กสม. สุภัทรา เข้าร่วมประชุม Inclusive Labor Monitoring (ILM) Action Network: Transforming Supply Chains and the Wider Ecosystem

12/07/2567 545

          วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 เวลา 9.00-12.00 น. ที่ห้อง Grand Ballroom โรงแรม SILQ Hotel & Residence นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม Inclusive Labor Monitoring (ILM) Action Network: Transforming Supply Chains and the Wider Ecosystem จัดโดยสถาบันอิสรา การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและพัฒนากลยุทธ์ในการส่งเสริมการสรรหาจ้างแรงงานอย่างมีจริยธรรมและปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติประเภท Walk-in และ MoU โดยมีผู้มีส่วนได้เสียจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ตัวแทนแรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชา นายจ้าง หน่วยงานภาครัฐ  ภาคประชาสังคม และบริษัทค้าปลีก

          ในภาคเช้าที่ประชุมได้รายงานข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย เมียนมา และกัมพูชา ภาพรวมสถานการณ์การสรรหาจ้างแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย รวมถึงรับฟังประสบการณ์ของผู้หางานและแรงงานชาวพม่าและกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับหลักการ “นายจ้างต้องจ่าย” ที่กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดหาแรงงาน โดยได้มีการเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น ควรกลับไปใช้ศูนย์ One Stop Service และในกรณีการต่ออายุหนังสือรับรองสถานะบุคคล (Certificate of Identity) แรงงานไม่ควรต้องเดินทางไปดำเนินการที่ชายแดนแต่ควรมีศูนย์บริการที่ส่วนกลางหรือกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ควรมีนโยบายด้านแรงงานในระยะยาวแทนการแก้ปัญหาในระยะสั้น การนำเข้าแรงงานประเภท MoU ควรมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนและค่าใช้จ่ายต่ำ รวมถึงปรับปรุงนโยบายให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถนำเข้าแรงงานประเภท MoU ได้ด้วย นอกจากนี้ สถาบันอิสราได้แนะนำ Application Golden Dreams ที่ทางสถาบันได้จัดทำขึ้นเพื่อให้แรงงานใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการหางานเพื่อให้เกิดการสรรหาจ้างแรงงานอย่างมีจริยธรรม

          ในภาคบ่ายที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับความท้าทายของการสรรหาจ้างแรงงานและการจัดการกระบวนการU-Turn ของแรงงานประเภท MoU วิธีการบรรเทาความเสี่ยงของธุรกิจและแรงงาน โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอแนะให้นายจ้างสำรวจแรงงานในบริษัทที่ MoU ใกล้ครบกำหนดและหนังสือเดินทางใกล้หมดอายุ เพื่อเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำ MoU U-Turn ล่วงหน้า ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ จะทำให้กระบวนการ U-Turn ใช้เวลาน้อยลง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายถึงแนวปฏิบัติที่มีจริยธรรมและแนวทางแก้ไขในการจ้างแรงงานประเภท Walk-in ว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยให้แรงงานเสียค่าใช้จ่ายในการหางานน้อยลง เช่น ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตต่าง ๆ กำหนดขั้นตอนการสรรหาและค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน เป็นต้น

          ในการประชุมดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แจ้งที่ประชุมว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเพื่อรายงานต่อรัฐสภา กสม. จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายด้านแรงงาน หากมีประเด็นใดที่ต้องการให้ กสม. ช่วยขับเคลื่อน กสม.ยินดีรับไปดำเนินการ ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วน กสม. สามารถมีข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อช่วยคุ้มครองสิทธิของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม

 

เลื่อนขึ้นด้านบน