การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เป็นปัญหาสำคัญยิ่งและเป็นต้นเหตุของการถูกพรากสิทธิในชีวิตของมวลมนุษยชาติในอดีตอย่างกว้างขวาง และยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างแท้จริง
ในปี 2508 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD) และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้เมื่อต้นปี 2546 โดยอนุสัญญาดังกล่าวระบุว่า การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ หมายถึง การจำแนก กีดกัน จำกัด ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสาย ชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด ซึ่งมีเจตนาหรือมีผลให้เกิดการระงับหรือกีดกันการเคารพสิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และในด้านอื่น ๆ ของการดำรงชีวิตในสังคมอย่างเสมอภาค โดยรัฐภาคีมีหน้าที่ต้องจัดให้มีนโยบายและการปฏิบัติที่นำไปสู่การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบรวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจระหว่างคนทุกชนชาติด้วย
ประเทศไทย เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และคนต่างเชื้อชาติ ซึ่งที่ผ่านมายังประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติหรือการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เกิดจากอคติทางเชื้อชาติ รวมทั้งความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ป่า พื้นที่ราบสูง หมู่เกาะหรือทะเลชายฝั่ง ซึ่งบางส่วนยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคล ส่งผลให้ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ในขณะที่จำนวนมากยังขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจกรรมหรือกิจการของรัฐหรือเอกชนที่กระทบต่อวิถีชีวิตของตนทำให้มีข้อจำกัดในการใช้และเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ
เนื่องในวันขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติสากล 21 มีนาคม ประจำปี 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงปัญหาการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติอันมีที่มาจากอคติทางเชื้อชาติ สีผิว เผ่าพันธุ์ หรือชาติพันธุ์ที่แตกต่าง และขอกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะกรณีการทับซ้อนของที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ที่นำไปสู่การฟ้องร้องและจับกุมดำเนินคดี ตลอดจนเร่งรัดการจัดทำกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรด้วย ทั้งนี้เพื่อให้คนทุกคนในประเทศไทยได้มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคกันในกฎหมายโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือถูกละทิ้งไว้ข้างหลังเพราะเหตุของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ชาติพันธุ์ ที่แตกต่างหรือน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ทั่วไปในสังคม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
21 มีนาคม 2566
21-3-66-สารเนื่องในวันขจัดการเลือกปฏิบัติทางเ.pdf