กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 25/2567 กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ - มีข้อเสนอแนะเชิงระบบแก้ปัญหากรณีบุคคลที่ถูกจำหน่ายชื่อไปทะเบียนบ้านกลางไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการจากรัฐ

19/07/2567 73

                วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ละนายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 25/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

 

            1. กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับพวก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เกิดเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกร้อง) ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุ อายุ 14 ปี และสอบปากคำโดยไม่มีนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาร่วมกระบวนการ รวมทั้งปล่อยให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในที่เกิดเหตุและพูดคุยกับผู้ก่อเหตุ ต่อมามีการเผยแพร่วิดีโอ ภาพถ่าย และภาพบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ก่อเหตุในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิเด็ก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ 

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติให้การปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ห้ามเจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน อนุญาตหรือยินยอมให้มีการถ่ายภาพหรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน และในการสอบสวนให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้น ซึ่งสอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

            จากการตรวจสอบเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก กรณีปล่อยให้ภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เห็นว่า ผู้ถูกร้องจับและควบคุมตัวผู้ก่อเหตุอายุ 14 ปี โดยมีบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์บันทึกวิดีโอขณะที่ผู้ถูกร้องควบคุมตัวและสอบปากคำเด็กผู้ก่อเหตุในที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กผู้ก่อเหตุที่ทำให้เห็นข้อมูลส่วนบุคคลชัดเจน เมื่อพิจารณาสถานที่เกิดเหตุ ผู้ถูกร้องควบคุมตัวผู้ก่อเหตุภายในร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถจำกัดทางเข้าออกได้ ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจในการควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการสถานที่เกิดเหตุไม่ให้สื่อมวลชนหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องถ่ายคลิปวิดีโอหรือบันทึกภาพ แต่เมื่อการบันทึกวิดีโอเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้อง และต่อมามีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้ประชาชนทั่วไประบุตัวตนของเด็กผู้ก่อเหตุและครอบครัวได้ จนส่งผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องจึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

            ประเด็นที่สอง กรณีการสอบปากคำเด็กผู้ก่อเหตุในชั้นจับกุมโดยไม่มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วม เห็นว่า ผู้ถูกร้องควบคุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ และได้สอบถามเบื้องต้นเกี่ยวกับการก่อเหตุเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่เข้าระงับเหตุในห้างสรรพสินค้าที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก จึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ถูกร้องจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้รวดเร็วที่สุด ต่อมาเมื่อนำตัวผู้ต้องหาไปที่ทำการของพนักงานสอบสวน ผู้ถูกร้องได้ประสานให้นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหาตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดแล้ว 

            อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้ถูกร้องสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ก่อเหตุแล้ว มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานผู้ถูกร้องและเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายการเมืองเข้าร่วมพูดคุยกับผู้ก่อเหตุด้วย เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุ 14 ปี อยู่ในอาการหวาดระแวง และมีสัญญาณการฆ่าตัวตาย ผู้ถูกร้องควรปฏิบัติต่อผู้ก่อเหตุโดยคำนึงถึงสิทธิเด็ก โดยจำกัดเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่เท่าที่จำเป็นเท่านั้นที่จะเข้าไปในสถานที่ควบคุมตัว เพื่อป้องกันมิให้มีบุคคลใดสอบถามหรือพูดคุยกับเด็กโดยไม่มีทีมสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่เด็กไว้วางใจร่วมอยู่ด้วย การกระทำของผู้ถูกร้องในชั้นจับกุม แม้จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องในการบริหารจัดการพื้นที่เกิดเหตุโดยขาดความระมัดระวังที่เพียงพอ จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ในสังกัดปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยให้ภาพและคลิปวิดีโอในระหว่างการควบคุมตัวผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเด็กเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดให้ปฏิบัติเกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียงของผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคล และกำชับให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดให้บริหารจัดการพื้นที่เกิดเหตุหลังการควบคุมตัวผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยให้บุคคลที่มีหน้าที่เฉพาะและเท่าที่จำเป็นเท่านั้นที่จะเข้าไปในสถานที่ได้ และให้ใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันมิให้มีบุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องสอบถามหรือพูดคุยกับผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนโดยไม่มีเหตุอันสมควรโดยไม่มีสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่เด็กไว้วางใจร่วมอยู่ด้วย 

            นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำหรือปรับปรุงแผนบริหารสถานการณ์วิกฤติและการเจรจาในชั้นเผชิญเหตุให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และกำหนดแนวทางป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในที่เกิดเหตุ และจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการบริหารสถานการณ์วิกฤติและการเจรจาดังกล่าว ตลอดจนกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพเพื่อทำงานร่วมกันในชั้นเผชิญเหตุ กรณีผู้ก่อเหตุเป็นเด็กหรือผู้ป่วยจิตเวช เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน และสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง

 

            2. กสม. มีข้อเสนอแนะเชิงระบบแก้ปัญหากรณีบุคคลที่ถูกจำหน่ายชื่อไปทะเบียนบ้านกลาง ไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการจากรัฐ

                    นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ระบุว่า ผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เนื่องจากถูกจำหน่ายชื่อไปไว้ในทะเบียนบ้านกลาง และคนในทะเบียนบ้านกลางซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหวทางทะเบียนเป็นเวลานานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการของรัฐ ไม่สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนและไม่มีสิทธิทำธุรกรรมใด ๆ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เช่น เข้าไม่ถึงการศึกษา ไม่มีโอกาสหางานทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านสวัสดิการแรงงาน เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

                    กรณีปัญหาดังกล่าว กสม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่ถูกเพิ่มชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลาง มีอยู่ประมาณ 381,000 คน ประสบปัญหาหลายประการ ดังนี้ (1) ปัญหาสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย โดยบุคคลที่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชนแต่บัตรสูญหาย ชำรุด หรือหมดอายุจะไม่สามารถขอทำบัตรใหม่ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 5 กำหนดให้ผู้ที่จะจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ต้องมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านแล้วเท่านั้น และกรมการปกครองเห็นว่า ทะเบียนบ้านกลางไม่ใช่ทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ข้อ 8 นอกจากนี้บุคคลที่มีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลางเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียน จะถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลาง ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการคุ้มครองและจัดการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร พ.ศ. 2561 ทำให้ไม่ถูกบันทึกชื่อและรายการในทะเบียนราษฎรใด ๆ ตามระบบกฎหมายของไทยอีกต่อไป ซึ่งกระทบสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และกระทบต่อสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย

                       (2) ปัญหาสิทธิของผู้สูงอายุและคนพิการที่จะได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2556 กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นอาศัยอยู่ ดังนั้น บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางจะถูกตัดสิทธิไม่ให้รับเบี้ยดังกล่าว (3) ปัญหาสิทธิการมีส่วนร่วมในการปกครอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งแต่ละฉบับกำหนด บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางจึงไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อันกระทบต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

                        (4) ปัญหาการออกหมายจับ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 33 วรรคสอง กำหนดว่ากรณีศาลออกหมายจับผู้ใด ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ผู้นั้นจะถูกย้ายชื่อและรายการจากทะเบียนบ้านเดิมไปไว้ในทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งกระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และ (5) ปัญหากรณีผู้ให้เช่าหรือผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นพักอาศัย ไม่ยินยอมให้เพิ่มชื่อผู้อยู่อาศัยเข้าในทะเบียนบ้าน บุคคลเหล่านี้จะถูกเพิ่มชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลางแทน ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น

                       ดังนั้น เพื่อให้บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางไม่สูญเสียสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมาย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

                       (1) ข้อเสนอแนะระยะเร่งด่วน ให้กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง มอบหมายนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น หรือสาขา ตรวจสอบภูมิลำเนาของผู้ประสงค์ทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่แต่มีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลาง หากมีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในท้องที่นั้นจริง ให้ใช้ข้อเท็จจริงนั้นแสดงภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 ถึงมาตรา 42 โดยคำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน 

                    สำหรับข้อเสนอแนะเชิงระบบ ให้แก้ไขระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 โดยกำหนดให้ทะเบียนบ้านกลางเป็นทะเบียนบ้านประเภทหนึ่ง ใช้สำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน และบุคคลที่อยู่ระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับของศาล โดยอ้างอิงภูมิลำเนาตามสำนักทะเบียนจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น และกำหนดเลขประจำบ้านขึ้นมาให้เหมือนกันทั่วประเทศ โดยระบุที่อยู่ของทะเบียนบ้านกลางเป็นที่อยู่ของสำนักทะเบียนแต่ละพื้นที่ และหากบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลดังกล่าวชำรุด สูญหาย หรือหมดอายุ ให้สามารถทำบัตรใหม่ได้ 

                     นอกจากนี้ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 30/1 โดยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้าน หรือผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการแจ้งให้นายทะเบียนทราบเพื่อเพิ่มชื่อบุคคลที่ประสงค์ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านโดยมีเจตนาจะถือเป็นภูมิลำเนา หากเจ้าบ้านไม่ดำเนินการแจ้งให้ผู้ที่ประสงค์ย้ายเข้าสามารถแจ้งนายทะเบียนปลายทางทราบเพื่อประสานกับนายทะเบียนต้นทางนำชื่อย้ายมายังทะเบียนบ้านปลายทางได้

                     ส่วนบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางมาเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางทะเบียน ให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพิ่มมาตรการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยให้นายทะเบียนลงพื้นที่ หรือใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากบุคคลนั้น จากหัวหน้าชุมชน หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น เพื่อให้ทราบว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่สำนักทะเบียนนั้นหรือไม่ อีกทั้ง ควรประกาศรายชื่อผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางในเว็บไซต์ของกรมการปกครอง รวมทั้งช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลได้โดยง่าย นอกจากนี้ ต้องให้ผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกลางสามารถติดต่อและแจ้งข้อมูลแก่นายทะเบียนได้จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ 

                     (2) ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมกันพิจารณาให้สิทธิบุคคลที่ถูกเพิ่มชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลาง สามารถรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินเบี้ยความพิการ และมีสิทธิเลือกตั้งได้

                     (3) กระทรวงมหาดไทย ควรมุ่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศในลักษณะบูรณาการเพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งตระหนักถึงผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาแก้ไขเชิงระบบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านการจัดเก็บฐานข้อมูลประชากร ให้สอดคล้องกับภูมิลำเนาตามสภาพความเป็นจริง เช่น กรณีมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านกลาง และกรณีถูกจำหน่ายชื่อและรายการออกจากทะเบียนบ้านกลางอย่างถาวร เป็นต้น

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

19 กรกฎาคม 2567  

เลื่อนขึ้นด้านบน