กสม.สุภัทรา บรรยายหัวข้อ “ทัศนคติและโลกทัศน์แบบสิทธิมนุษยชน ภาพรวมและประวัติศาสตร์ความคิดสิทธิมนุษยชน” หลักสูตรวุฒิบัตรเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทนายความสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 1

25/07/2567 14

          เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 -12.00 น. ที่ห้องประชุมสุริยา โรงแรมภูมนตรา รีสอร์ท จังหวัดนครนายก นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายบุญแทน  ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ที่ปรึกษา กสม.) เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ทัศนคติและโลกทัศน์แบบสิทธิมนุษยชน ภาพรวมและประวัติศาสตร์ความคิดสิทธิมนุษยชน” สำหรับผู้เข้าอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทนายความสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 1 จัดโดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ภายใต้การสนับสนุนของสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อผลิตและเสริมสร้างศักยภาพทนายความสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ อาทิ สิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิความหลากหลายทางเพศ สิทธิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าอบรมประกอบด้วย อาจารย์สถาบันการศึกษา ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ และนิสิตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รวม 20 คน

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เริ่มต้นบรรยายด้วยการแนะนำให้รู้จักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หน้าที่และอำนาจของ กสม. กระบวนการสรรหา กสม. ตามหลักการปารีส ความหมายและขอบเขตของสิทธิมนุษยชนตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ปฐมบทเรื่องสิทธิมนุษยชนคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ค.ศ.1948 และต่อมาพัฒนาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 9 ฉบับ ซึ่งประเทศไทยให้การรับรองแล้ว 8 ฉบับ มายาคติเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ที่ยังมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของตะวันตก เป็นเรื่องโลกสวยของกลุ่มเพ้อฝัน สิทธิมนุษยชนเข้าข้างคนโกง อาชญากรรม ปกป้องโจร และเรื่องปากท้องประชาชนสำคัญกว่าสิทธิมนุษยชน จากนั้นที่ปรึกษา กสม. บรรยายเรื่องพัฒนาการสิทธิมนุษยชนจากอดีตถึงปัจจุบัน พร้อมฉายวิดีโอ เรื่องพัฒนาการสิทธิมนุษยชน จัดทำโดย สำนักงาน กสม. ความยาว 10 นาที เพื่อประกอบการบรรยายให้ความรู้เพิ่มเติม

          ช่วงท้ายการบรรยาย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และที่ปรึกษาประจำ กสม. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมยกตัวอย่างเรื่องร้องเรียน และประเด็นกฎหมายที่ กสม. กำลังขับเคลื่อน อาทิ ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ร่างกฎกระทรวงแรงงานคุ้มครองพนักงานบริการ และการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว เพื่อให้ศาลมีทางเลือกในการลงโทษอื่น เป็นต้น

          การบรรยายดังกล่าว ได้รับความสนใจจากผู้เข้าอบรมเป็นอย่างมาก ทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประสบการณ์ทำงานการเป็นทนายว่าความในคดีที่เกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชน การซักถามเพิ่มเติมในประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีข้อเสนอแนะ ให้ช่วยขับเคลื่อนประเด็นกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล โดยยกตัวอย่างงานวิชาการจากต่างประเทศ การพิจารณาคดีของศาลอังกฤษและศาลเยอรมัน ที่มีการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย ทั้งการติดกล้อง บันทึกภาพ และถ่ายทอดสด ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยที่เป็นแดนสนธยา

 

เลื่อนขึ้นด้านบน