กสม. ศยามล ให้สัมภาษณ์ ประเด็น "การระบาดของปลาหมอคางดำกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน กสม. เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข”

26/07/2567 159

          เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.10 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์รายการคุยกันเช้านี้ ประเด็น "การระบาดของปลาหมอคางดำกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน กสม. เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข” โดยมี คุณนิธินาฏ  ราชนิยม เป็นผู้ดำเนินรายการ ออกอากาศทางสถานีวิทยุครอบครัวข่าว FM 106 MHz

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2560 เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี มาร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่ 3 ว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นอย่างมาก กสม.ชุดที่ 3 จึงตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะต่อกรมประมง โดยจัดให้มีกลไกหรือแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Institutional Biosafety Committee – IBC) ขึ้นมาพิจารณาให้ความเห็นประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น และจัดทำหลักเกณฑ์เงื่อนไขประกอบการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ติดตามผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 กำหนดให้ปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย พร้อมทั้งได้กำชับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือประชาชนอย่านำสัตว์น้ำต่างถิ่นปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ และกรมประมงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระยะเร่งด่วน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,400,000 บาท เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดโดยรับซื้อกิโลกรัมละ 5 บาท ในคราวนั้นชาวบ้านสะท้อนว่าราคารับซื้อต่ำเกินไปไม่จูงใจให้จับปลาหมอ และยังมีข้อจำกัดการห้ามใช้เครื่องมือบางประเภทจับปลาซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่อการจับปลาหมอตามความเห็นของชาวบ้าน

          นางสาวศยามล กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในปัจจุบันปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมีความเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด กสม. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นชุดที่ 4 จึงดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการมีส่วนร่วมจากภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนี้

          1) ระยะเร่งด่วน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหนังสือไปยังทุกจังหวัดที่ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เพื่อขอให้จัดประชุมคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด หารือแนวทางการออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผ่อนผัน การอนุญาตและระยะเวลาการผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือบางประเภททำการประมง ในการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยมุ่งเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นจากเครือข่ายชาวประมง ในพื้นที่ด้วย

          2) ระยะสั้น ให้กรมประมง มีหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อสอบถามกรณีการนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มาใช้แก้ไขปัญหาข้างต้น พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

          3) ระยะกลาง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะจัดประชุมร่วมกับกรมประมง หน่วยงานเอกชน และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้อง

          ทั้งนี้ รัฐบาลต้องมีแผนงานและงบประมาณที่ชัดเจน เพียงพอ รองรับการแก้ไขปัญหา โดยการมีส่วนร่วมดำเนินการจากชาวประมงซึ่งเป็นผู้มีภูมิปัญญาเชี่ยวชาญในการจับปลามากกว่าผู้ใด

เลื่อนขึ้นด้านบน