กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 8/2566 กสม. ชี้กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ชนะสงคราม จับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่แสดงบัตรประจำตัวขณะตรวจค้น เป็นการละเมิดสิทธิฯ

24/02/2566 156
 
 
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์
ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 8/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ชี้กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ สน. ชนะสงคราม จับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่แสดง
บัตรประจำตัวขณะตรวจค้น เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ สตช. กำชับ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบ
อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ระบุว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 ช่วงดึก ขณะที่ผู้ร้องขับขี่รถจักรยานยนต์อยู่ในบริเวณตรอกสาเก ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีกลุ่มชายจำนวน 4 คน อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าตรวจค้นร่างกายผู้ร้องโดยไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องขัดขืนจึงถูกทำร้ายร่างกาย ต่อมาผู้ร้องทราบในภายหลังว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม (สน. ชนะสงคราม) นอกจากนี้ในระหว่างการสอบสวน ผู้ร้องระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และซ้อมทรมานเพื่อให้ยอมรับสารภาพในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลทุกคน การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงสรุปประเด็นได้ดังนี้

            (1) กรณีการตรวจค้นและจับกุม ปรากฏว่า ขณะเข้าทำการตรวจค้นจับกุมผู้ร้องนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายนอกเครื่องแบบ สังเกตเห็นผู้ร้องอยู่ในอาการผิดปกติลักษณะเหมือนเสพยาเสพติดจึงขอเข้าไป
ตรวจค้น เมื่อพิจารณาคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 ประกอบกับหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0011.13/ว52 ได้กำชับให้ข้าราชการตำรวจที่ทำการตรวจค้นหรือจับกุมทุกกรณี
ต้องแต่งเครื่องแบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วนที่ต้องทำการตรวจค้นบุคคลหรือสถานที่หรือจับกุมบุคคลใด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติทันที อาจจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ ถ้าเช่นนี้ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบก็ได้ แต่ต้องแจ้งยศ ชื่อ ตำแหน่ง
พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวให้เจ้าบ้านหรือผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลที่ถูกตรวจค้นหรือถูกจับกุมนั้นทราบ จึงเห็นได้ว่า กรณีตามคำร้องนี้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน หรือไม่ได้แสดงตนจนเป็นที่พอใจแก่ผู้ร้องว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง ประกอบกับเวลาเกิดเหตุเป็นยามวิกาล ทำให้ผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจและขัดขืนไม่ยินยอมให้ตรวจค้น จนกระทั่งมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ร้องกับตำรวจและประชาชนในที่เกิดเหตุบางคน ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การตรวจค้นและจับกุมผู้ร้องโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย คำสั่ง และข้อกำชับที่เกี่ยวข้อง
จึงถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            (2) กรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ในชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และซ้อมทรมานผู้ร้องเพื่อให้
รับสารภาพในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น ภายหลังจากผู้ร้องถูกคุมขัง 2 วัน ก่อนถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง จากข้อมูลการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีร่องรอยการถูกทำร้ายหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ว่าตนเองถูกทำร้ายแต่อย่างใด นอกจากนี้
จากพฤติการณ์ของผู้ร้องประกอบกับการสอบถามมารดาและเพื่อนมารดาของผู้ร้องต่างไม่อาจยืนยันว่า
มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ในชั้นนี้จึงยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่รับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องข่มขู่และ
ซ้อมทรมานผู้ร้องเพื่อให้รับสารภาพในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
 
            (3) สำหรับกรณีที่ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่นั้น ปรากฏว่า พนักงานอัยการฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ผู้ร้องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ จึงต้องห้ามมิให้ กสม. ใช้หน้าที่และอำนาจ
ในการพิจารณา ตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 จึงเห็นควรยุติเรื่องในประเด็นนี้

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่
20 กุมภาพันธ์ 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช .) และ
สน. ชนะสงคราม ให้กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 และหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0011.13/ว52 ซึ่งในการตรวจค้นหรือจับกุมทุกกรณี เจ้าหน้าที่จะต้องแต่งเครื่องแบบ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วนที่ไม่อาจแต่งเครื่องแบบได้ แต่เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งยศ ชื่อ ตำแหน่ง พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวให้เจ้าบ้านหรือผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลที่ถูกตรวจค้นหรือถูกจับกุมนั้นทราบก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ ให้ สตช. และ สน. ชนะสงคราม ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้

            นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้ สน.ชนะสงคราม จัดให้มีกล้องบันทึกภาพและเสียงสำหรับเก็บพยานหลักฐานในการเข้าตรวจค้นและจับกุมบุคคลใด ๆ โดยให้มีระยะเวลาในการเก็บรักษาพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือตามสมควร เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงหากมีกรณีการร้องเรียนถึงการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ สตช. สนับสนุนด้านงบประมาณ และจัดหาอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงให้แก่สถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์และความเป็นธรรมในการตรวจสอบหากมีกรณีร้องเรียนการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

2. กสม. ตรวจสอบกรณีราษฎรถูกสั่งให้ออกจากพื้นที่ป่าหินเหล็กไฟ จ.ประจวบคีรีขันธ์ฯ แนะศูนย์การทหารราบชะลอการฝึกซ้อมรบในพื้นที่พิพาท เร่งหาที่ดินรองรับการย้ายที่อาศัย
อาจเป็นรูปภาพของ 3 คน และ ข้อความ
             นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2565 ระบุว่า ได้รับทราบข้อเท็จจริงจากข่าวในอินเทอร์เน็ตว่า ชาวบ้านตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 1,200 คน ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ศูนย์การทหารราบ (ผู้ถูกร้อง) มีคำสั่งให้ประชาชนออกจากที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เนื่องจากจะใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ซ้อมรบกระสุนจริง จึงขอให้ กสม. ตรวจสอบ
            กรณีนี้ กสม. ได้ตรวจสอบและลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงร่วมกับทุกฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนศูนย์การทหารราบ ผู้แทนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนอำเภอหัวหิน ผู้แทนสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่พิพาทอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 9 ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของป่าหินเหล็กไฟ ซึ่งเป็นป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่า พ.ศ. 2456 ซึ่งศูนย์การทหารราบได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่พิพาทเมื่อ ปี 2500 โดยกำหนดให้เป็นเขตปลอดภัย ในราชการทหารของที่ทหาร เมื่อปี 2512 และเมื่อปี 2513 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จำแนกที่ดินพื้นที่ป่าหินเหล็กไฟเป็นที่สงวนไว้ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหม (ค่ายธนะรัชต์) เนื้อที่ประมาณ 930 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ ประชาชนได้เริ่มเข้ามาอยู่ในตำบลบึงนครประมาณปี 2518 ขณะนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามา
ในพื้นที่เพื่อแจ้งว่าที่ดินนี้เป็นที่ดินประเภทใด โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกอ้อย สับปะรด และข้าวโพด

            ต่อมา เมื่อปี 2552 ได้มีการขึ้นทะเบียนเขตปลอดภัยในราชการทหารบางส่วนเป็นที่ราชพัสดุ และเมื่อปี 2554 ศูนย์การทหารราบ ได้กำหนดให้พื้นที่พิพาทเป็นศูนย์ฝึกทางยุทธวิธีกองทัพบก แห่งที่ 2
เพื่อรองรับการฝึกหน่วยทหารขนาดใหญ่ ระดับกองพันผสม และขอออก นสล. ในพื้นที่บางส่วนของตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมประมาณ 8,700 ไร่ ศูนย์การทหารราบจึงได้มีคำสั่งให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่พิพาทออกจากพื้นที่
            ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้นเห็นว่า เมื่อพื้นที่พิพาทเป็นที่ดินของรัฐที่คณะรัฐมนตรีสงวนหวงห้ามไว้ และศูนย์การทหารราบ ได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จึงทำให้ที่ดินดังกล่าวมีสถานะเป็นที่ดินของรัฐประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) และเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 (3) โดยหน่วยงานรัฐเข้าใช้ประโยชน์ มาตั้งแต่ปี 2513 ศูนย์การทหารราบ ในฐานะผู้ใช้ที่ราชพัสดุจึงมีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ เช่นเดียวกับที่วิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตน และระมัดระวังไม่ให้เกิดการบุกรุกหรือ
ความเสียหายใด ๆ ตามกฎกระทรวง การใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563 ข้อ 19 ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องมีคำสั่งให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่พิพาทมาตั้งแต่ประมาณปี 2518 ออกจากพื้นที่พิพาทดังกล่าว ซึ่งมีสถานะเป็นที่ราชพัสดุแล้ว จึงไม่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            สำหรับกรณีที่ศูนย์การทหารราบไม่อนุญาตให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปักเสาพาดสายระบบจำหน่ายไฟเข้าไปในที่ราชพัสดุ ทำให้ประชาชนที่อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่นั้นเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.813/2556 ว่า การปักเสาพาดสายระบบจำหน่ายไฟฟ้าในที่ราชพัสดุซึ่งศูนย์การทหารราบใช้ประโยชน์จะส่งผลกระทบต่อภารกิจของศูนย์การทหารราบ
ในการฝึกกำลังพลและศึกษา รวมทั้งเกิดข้อจำกัดในการใช้อุปกรณ์การฝึกที่ร้ายแรง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ แม้ว่ารัฐจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีไฟฟ้าหรือประปาซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน แต่การใช้สิทธิต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เมื่อที่ดินซึ่งต้องใช้เป็นพื้นที่ขยายแนวเขตปักเสาพาดสายไฟฟ้า เพื่อการจัดทำบริการสาธารณะในกรณีนี้ต้องผ่านที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุและอยู่ในความครอบครองดูแลของ
ศูนย์การทหารราบ อีกทั้งศูนย์การทหารราบไม่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดให้มีบริการสาธารณะให้แก่
ผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินซึ่งอยู่ในความครอบครองของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่การไฟฟ้า
ส่วนภูมิภาคพิจารณาให้ประชาชนเข้าโครงการเร่งรัดขยายเขตบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นแล้ว อีกทั้งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว อันเป็นกรณีตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือ
คำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว กสม. จึงเห็นควรยุติเรื่องในประเด็นนี้

            นางปรีดา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทับซ้อนระหว่างที่ดินของรัฐประเภทที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมายกับที่ดินซึ่งประชาชนครอบครองและทำกินมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 72 (3) กำหนดให้รัฐพึงมีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ดินทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประกอบกับจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีปัญหาความไม่เสถียรและอาจกระทบต่อการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบางเวลา
            ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนซึ่งครอบครองและทำกินในที่ดินพิพาทนี้มาเป็นเวลากว่า 47 ปี ได้มีที่อยู่อาศัยที่ทำกินและเข้าถึงความมั่นคงในการถือครองที่ดิน อันสอดคล้องตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างเพียงพอตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ประการที่ 3 เรื่อง การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังศูนย์การทหารราบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปได้ดังนี้

            ให้ศูนย์การทหารราบ ชะลอการฝึกซ้อมรบเต็มรูปแบบไปก่อนจนกว่าจะสามารถจัดหาที่ดินและอพยพประชาชนออกไปจากพื้นที่ได้ และในการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงทุกครั้งต้องมีการแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าโดยทั่วถึง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนี้ให้ จัดหาที่ดินภายในที่ราชพัสดุแปลงที่ไม่มีการซ้อมรบ หรือร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดหาที่ดินในจังหวัดและจัดที่ดินรองรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกให้ออกจากพื้นที่ รวมทั้งจัดสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นพื้นฐาน และส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนเหล่านั้น ทั้งนี้ ให้ศูนย์การทหารราบร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ปรับปรุงหรือพัฒนาระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอด้วย

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
24 กุมภาพันธ์ 2566
24-02-66-แถลงข่าวเด่น-8-2566_.pdf
 




 
 

 

24/02/2566
ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน