กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 6/2566 กสม. ชี้สายการบินปฏิเสธไม่ให้คนพิการนำรถเข็นไฟฟ้าโดยสารไปกับอากาศยาน เป็นการละเมิดสิทธิฯ

09/02/2566 723

 
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 6/2566 โดยมี
วาระสำคัญดังนี้
กสม. ชี้สายการบินปฏิเสธไม่ให้คนพิการนำรถเข็นไฟฟ้าโดยสารไปกับอากาศยาน เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะกระทรวงคมนาคมแก้ไขกฎหมายให้คนพิการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานสากล
         
 
            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวเนื่องกับสิทธิคนพิการว่า ผู้ร้องเป็นตัวแทนผู้เสียหายสัญชาติอิสราเอลซึ่งเป็นคนพิการ ต้องใช้รถเข็นไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนที่ โดยรถเข็นไฟฟ้า ของผู้เสียหายบรรจุแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ขนาดความจุ 240 วัตต์-ชั่วโมง ผู้เสียหายได้จองบัตรโดยสาร ผ่านเว็บไซต์ของสายการบินแห่งหนึ่ง เพื่อเดินทางจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และได้ส่งรายละเอียดข้อมูลแบตเตอรี่ให้สายการบินทราบก่อนการเดินทาง 48 ชั่วโมง แต่สายการบินแจ้งว่าไม่มีนโยบายอนุญาตให้นำรถเข็นไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ขึ้นเครื่องได้ ผู้เสียหายจึงขอคืนค่าโดยสาร แต่ถูกปฏิเสธจากสายการบิน ต่อมาผู้เสียหายได้เดินทางไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ พนักงานของ สายการบินดังกล่าวได้ตรวจสอบและให้ผู้เสียหายแสดงเอกสารเกี่ยวกับแบตเตอรี่อีกหลายครั้ง รวมระยะเวลาในกระบวนการตรวจสอบกว่า 90 นาที ผู้เสียหายจึงรีบไปที่ประตูเครื่องบินให้ทันเวลา แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้น ครื่องบิน โดยนักบินได้ถอยเครื่องบินออกจากสะพานเทียบเครื่องบิน ทำให้ผู้เสียหายเกือบพลัดตก ผู้ร้องเห็นว่า การกระทำของสายการบินและท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นการปฏิบัติ ที่ไม่เหมาะสมต่อคนพิการ จึงขอให้ตรวจสอบ และขอให้แก้ไขปัญหาเชิงระบบ             กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ อันเป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) รวมทั้ง พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติรับรองความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติทั้งปวงเพราะเหตุแห่งความพิการ โดยคนพิการจะต้องได้รับการปฏิบัติจากบุคคล องค์กรเอกชน หน่วยงานของรัฐ โดยปราศจาก การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย มาตรการ หรือคำสั่งใด ๆ ในทางที่จะเป็นการเลือกปฏิบัติทางตรงหรือทางอ้อม จะกระทำไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่เข้าข่ายข้อยกเว้น จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปประเด็นได้ดังนี้
            (1) กรณีสายการบินปฏิเสธไม่ให้ผู้เสียหายนำรถเข็นไฟฟ้าเดินทางไปกับอากาศยาน ยกเว้นผู้เสียหายจะยินยอมให้ส่งแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้าเป็นพัสดุตามไป โดยอ้างเหตุรถเข็นไฟฟ้ามีกำลังไฟฟ้าเกินกว่ามาตรฐานของสายการบิน และอาจกระทบความปลอดภัยของผู้โดยสารโดยรวมนั้น เป็นการกระทำของ สายการบินที่กระทบสิทธิของผู้เสียหายในการเดินทาง โดยไม่คำนึงว่าผู้เสียหายประสงค์จะเดินทาง ตามลำพัง รวมถึงมีประเด็นการใช้เวลาตรวจสอบแบตเตอรี่นานถึง 60 นาที ทั้งที่ผู้เสียหายได้แจ้งรายละเอียดล่วงหน้าแล้ว
            จากการตรวจสอบพบว่า มาตรฐานความจุและกำลังไฟของแบตเตอรี่ลิเธียมของสายการบิน มีความแตกต่างจากมาตรฐานตามที่บัญญัติในประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอุปกรณ์ต้องห้าม และหลักเกณฑ์การพาแบตเตอรี่ลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ. 2559 ซึ่งให้ข้อยกเว้นสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้า ทั้งนี้ แม้จะปรากฏว่าสายการบินได้ชดใช้ค่าเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริงให้แก่ผู้เสียหายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มีการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ของวุฒิสภา ว่าจะทบทวนปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับการอนุญาตให้นำแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้าขึ้นอากาศยานได้ แต่จนถึงปัจจุบัน (ธันวาคม 2565) สายการบินดังกล่าวยังคงเป็นสายการบินที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวที่ห้ามนำแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้าขึ้นอากาศยาน จึงทำให้เห็นว่าสายการบินดังกล่าว
ยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการ และยังทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ต่อผู้โดยสารพิการอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
            (2) กรณีท่าอากาศยานเชียงใหม่ใช้ระยะเวลาตรวจสอบแบตเตอรี่รถเข็นไฟฟ้าของผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารอากาศยาน และกระทำต่อบุคคลทุกคน ณ จุดรักษาความปลอดภัย โดยกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานไว้ว่า กรณีของแบตเตอรี่ลิเธียมขนาดใหญ่ ที่ใช้ในยานพาหนะไฟฟ้า จะห้ามมิให้พาไปกับอากาศยาน แต่ต้องส่งไปในลักษณะสินค้า ตามข้อกำหนดทางเทคนิคที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี กรณีของแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ช่วยเคลื่อนที่สำหรับผู้โดยสารที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ อายุ หรือปัญหาชั่วคราว สามารถพาไปกับอากาศยานได้ โดยต้องแจ้งให้สายการบินทราบเพื่อดำเนินการต่อไป เห็นได้ว่า การตรวจสอบแบตเตอรี่ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ภายใต้กรอบอำนาจ ของตน จึงไม่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหายแต่อย่างใด
            (3) กรณีผู้เสียหายเกือบตกจากสะพานเทียบเครื่องบิน หลังจากถูกปฏิเสธการโดยสาร ท่าอากาศยานเชียงใหม่ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการเคลื่อนสะพานเทียบเครื่องบิน ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน และต่อให้ผู้เสียหายไถลไปชนประตู ก็จะไม่ตกลงไปแต่อย่างใด แต่เหตุที่ผู้เสียหายไถลไป เกิดจากสะพานเทียบเครื่องบินมีความลาดชัน ประกอบกับมีการเคลื่อนย้ายสะพานเทียบเครื่องบินออกจากตัวอากาศยาน เห็นได้ว่าท่าอากาศยานเชียงใหม่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังที่เพียงพอ
กับการให้ความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร อันเป็นภารกิจหลักของการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินได้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสายการบิน ให้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้นำแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถเข็นไฟฟ้าของคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ไปกับอากาศยาน ให้เป็นไปตามปรากฏในประกาศของสำนักงาน การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอุปกรณ์ต้องห้าม และหลักเกณฑ์การพาแบตเตอรี่ลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ. 2559 และตามมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) และให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่กำกับการให้บริการต่อผู้โดยสารพิการ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนการจัดการสะพานเทียบเครื่องบิน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับอันตราย หรือบาดเจ็บ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
            นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้ คือ ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเคร่งครัดในการกำกับ ติดตามและประเมินผลการให้บริการของสายการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากพบกรณีการละเมิด สิทธิมนุษยชนต่อผู้โดยสาร จะต้องดำเนินการสอบสวนและนำผลไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตหรือการอนุญาตให้บริการ จนกว่าจะมีมาตรการในการปรับปรุง และให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมท่าอากาศยาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการเกี่ยวกับท่าอากาศยาน ดำเนินการพิจารณาปรับปรุงสนามบิน รวมถึงจัดอุปกรณ์ให้บริการที่รองรับผู้โดยสารพิการทุกประเภท และผู้สูงอายุ โดยในระยะสั้น ให้ปรับปรุงนโยบายการจัดอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารพิการ อันเป็นหน้าที่การให้บริการของสนามบิน และงดจัดเก็บค่าใช้อุปกรณ์ เช่น ลิฟต์ยก จากสายการบินหรือผู้โดยสาร และในระยะยาว ควรดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานที่ โดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) และจัดซื้ออุปกรณ์ในการช่วยขนส่งผู้โดยสารพิการขึ้นเครื่องบินให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ และรองรับสภาพสังคมผู้สูงอายุ
            นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี โดยให้กระทรวงคมนาคมทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศยานของผู้โดยสารพิการ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) โดยเฉพาะประเด็นการปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารและปฏิเสธการรับขนคนพิการ และประเด็นมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการ ที่สายการบิน และท่าอากาศยานต้องจัดให้ผู้โดยสารพิการ รวมทั้ง ให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงาน การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พิจารณายกระดับประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอุปกรณ์ต้องห้าม และหลักเกณฑ์การพาแบตเตอรี่ลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ. 2559 ให้มีสถานะเป็นกฎหมาย เพื่อให้สามารถบังคับใช้กับทุกสายการบินที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยต่อไป

 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
9 กุมภาพันธ์ 2566
9-2-66-แถลงข่าวเด่น-6-2566.pdf
ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน