กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 5/2566 กสม. ชี้การทำโทษนักเรียนด้วยวิธีที่ทำให้ได้รับความอับอาย เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเกียรติยศ ชื่อเสียง

02/02/2566 184
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 5/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
            1กสม. ชี้การทำโทษนักเรียนโดยทำให้ได้รับความอับอาย เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะกระทรวงศึกษาฯ กำกับดูแลและอบรมครูเกี่ยวกับการทำโทษนักเรียนให้เหมาะสม
 
 
            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการกระทำของครูหัวหน้าฝ่ายปกครอง โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง จากกรณีการลงโทษนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน
4 คน ด้วยการให้ถอดกางเกงพลศึกษาจนเหลือแต่กางเกงชั้นในและกางเกงขาสั้นผู้ชาย (บ๊อกเซอร์) โดยให้ยืนหันหน้ามาทางครูหัวหน้าฝ่ายปกครองผู้ถูกร้อง และหันหลังให้กับเพื่อนนักเรียนจำนวนมากที่กำลังเดินขึ้นอาคารเรียนหลังเลิกแถว จากนั้นได้ดำเนินการอบรมสั่งสอนนักเรียนชายกลุ่มดังกล่าวเนื่องจากทั้ง 4 คนได้ร่วมกันแกล้งเพื่อนนักเรียนชายขาพิการคนหนึ่งซึ่งเรียนอยู่ห้องเดียวกันด้วยการฉีกแขนเสื้อจนขาดและ ดึงกางเกงลง ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้นักเรียนได้รับความอับอาย จึงขอให้ตรวจสอบ         
            กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ให้การรับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลจะกระทำมิได้ ขณะที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 16 กำหนดว่า เด็กจะไม่ถูกแทรกแซงโดยพลการ หรือโดยไม่ชอบ ในความเป็นอยู่ส่วนตัวต่อเกียรติและชื่อเสียง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ครูผู้ถูกร้องให้เหตุผลของการลงโทษว่ามีเจตนาที่ต้องการอบรมสั่งสอนนักเรียนทั้งสี่คนให้เข้าใจถึงความรู้สึกของเพื่อนนักเรียนชาย ขาพิการที่ถูกกลั่นแกล้งในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ส่วนผู้ปกครองของนักเรียนที่ถูกลงโทษบางคนไม่พอใจการกระทำของครูผู้ถูกร้อง จึงได้ร้องเรียนไปยังโรงเรียน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง และ กสม. รวมทั้งแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเผยแพร่เรื่องราวไปในสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นโรงเรียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จริง และสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ครูผู้ถูกร้อง หลังเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว โดยนักเรียนทั้งสี่คนไม่ติดใจการลงโทษของผู้ถูกร้องแต่อย่างใด ต่อมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครองของนักเรียนทั้งสองฝ่าย โรงเรียนและครูผู้ถูกร้องสามารถเจรจาตกลงกันได้ เรื่องจึงยุติ
            กสม. เห็นว่า แม้จะปรากฏว่านักเรียนทั้งสี่คนกลั่นแกล้งเพื่อนนักเรียน ซึ่งเป็นคนพิการด้วยการฉีกเสื้อและถอดกางเกง อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 1 (6) ที่กำหนดให้นักเรียนต้องไม่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี และแม้ครูผู้ถูกร้องอาจลงโทษนักเรียนโดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน แต่ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 5 และข้อ 6 ซึ่งมี 4 สถาน ได้แก่ (1) ว่ากล่าวตักเตือน (2) ทำทัณฑ์บน (3) ตัดคะแนนความประพฤติ และ (4) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยห้ามลงโทษนักเรียนด้วยการกลั่นแกล้ง หรือด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท ดังนั้น การที่ครูผู้ถูกร้อง สั่งลงโทษนักเรียนทั้งสี่คนโดยให้ถอดกางเกงแม้จะมีเจตนาเพื่ออบรมสั่งสอน แต่ทำให้นักเรียนทั้งสี่คนรู้สึกอับอาย จึงเป็นการลงโทษที่ไม่เป็นไปตามระเบียบฉบับดังกล่าว และกระทบต่อสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมือง ข้อ 17 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 16 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 
            แม้ว่าเรื่องดังกล่าวได้มีการตกลงกันและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมจนได้ข้อยุติแล้ว แต่เพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะนี้ขึ้นอีกในโรงเรียนแห่งดังกล่าว ประกอบกับเห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างนักเรียนด้วยกันหรือระหว่างครูกับนักเรียน ยังเกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น ครูใช้ไม้เรียวตีนักเรียนที่ก้นจนเกิดอาการเขียวช้ำ ครูใช้แก้วกาแฟปาใส่นักเรียนจนเป็นเหตุให้ใบหน้าผิดรูป เป็นต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อโรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้ 
            (1) ให้โรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าว กำชับครูที่ทำหน้าที่ฝ่ายปกครองให้ตระหนักว่าการลงโทษนักเรียนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 โดยเคร่งครัด และเคารพสิทธิมนุษยชนของนักเรียน
            (2) ให้กระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลส่วนราชการในสังกัดให้กำชับหรือซักซ้อมความเข้าใจแก่โรงเรียนและสถานศึกษาเป็นระยะ ๆ รวมทั้งอบรมให้ความรู้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บรรจุใหม่หรือที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548
            ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานอาจจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดระบบงานและกิจกรรมในการแนะแนว ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง พ.ศ. 2548 โดยสอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้เคารพในสิทธิมนุษยชนและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วย 
            2กสม. เผยกรณีกองทัพอากาศประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ โดยให้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เป็นการละเมิดสิทธิฯ
 
 
            นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ระบุว่า กองทัพอากาศประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหารประจำปี 2564 โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้สมัครยินยอมให้คณะกรรมการตรวจร่างกายทางการแพทย์ กรมแพทย์ทหารอากาศ ตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วย นอกจากนี้ ยังมีกฎระบุให้ภาวะกะเทย (Hermaphrodism) เป็นโรคซึ่งไม่สามารถเข้ารับราชการเป็นผู้ปฏิบัติงานภาคพื้นของกองทัพฯ ได้ เป็นการระบุเงื่อนไขที่เป็นการกีดกันโอกาสในการทำงานของประชาชน จึงขอให้ตรวจสอบและให้ยกเลิกเงื่อนไขทั้งสองกรณีดังกล่าวออกจากประกาศการรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหาร ในอนาคต
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หลักกฎหมาย และหลัก สิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 บัญญัติรับรองให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่าง ในเรื่องเพศ สภาพทางกายหรือสุขภาพ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 2 ที่ระบุหลักการไม่เลือกปฏิบัติดังกล่าวไว้ โดยที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on Human Rights) ได้มี ข้อมติยืนยันว่า บทบัญญัติเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ ตีความหมายรวมถึงสถานภาพทางสาธารณสุขซึ่งรวมทั้งเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งหมายความว่า รัฐไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อและผู้ได้รับผลกระทบจาก เชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ขณะที่คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้มีความเห็นทั่วไปหมายเลขที่ 18: สิทธิในการทำงาน ระบุว่าการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางสุขภาพต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ถือเป็นการจำกัดการเข้าถึงสิทธิในการทำงาน นอกจากนี้ นโยบายการตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงานยังขัดต่อแนวปฏิบัติเรื่องโรคเอดส์ในโลกแห่งการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ข้อ 8.1 ที่ระบุว่าไม่ควรมีการตรวจหาเชื้อเอดส์ในกระบวนการสรรหาบุคคลหรือในการต่ออายุ การจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจก่อนจ้างงานหรือการตรวจร่างกายตามปกติของลูกจ้างก็ไม่ควรมีข้อบังคับให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
            การที่กองทัพอากาศได้กำหนดเงื่อนไขในประกาศรับสมัครสอบประจำปี 2564 จำนวน 3 ฉบับ ให้มีการตรวจร่างกายซึ่งรวมถึงตรวจหาเชื้อเอชไอวี แม้ว่าโรคเอดส์หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือการติดเชื้อเอชไอวี จะไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นโรคหรือสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยให้เหตุผลว่า การเป็นทหารอาชีพ ต้องฝึกทั้งด้านวิชาการ และภาคสนาม หากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับบาดเจ็บอาจทำให้ผู้อื่นมีความเสี่ยงติดเชื้อไปด้วย ประกอบกับเห็นว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจมีข้อจำกัดด้านสมรรถภาพทางร่างกายที่ไม่เหมาะกับการปฏิบัติงาน นั้น กสม. เห็นว่า การติดเชื้อเอชไอวีไม่จำเป็นต้องมีอาการของโรคเอดส์ และปัจจุบันสามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่ง หากผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาและได้รับยาตามปกติก็มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีอายุขัยยืนยาวเช่นเดียวกับคนทั่วไป อีกทั้งการติดเชื้อเอชไอวีจากบุคคลอื่นมีได้สามทางหลัก ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากการป้องกันซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุด การติดต่อทางเลือดซึ่งมีส่วนน้อยจะติดเชื้อจากการที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่เป็นบาดแผลแล้วไปสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อโดยตรง และการติดต่อจากมารดาสู่ทารกเท่านั้น
            นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่กองทัพอากาศรับสมัครตามประกาศ เช่น ช่างซ่อมบำรุง  เจ้าหน้าที่สารวัตร นายทหารแผนและพัฒนางานวิจัย นายทหารการศึกษา นายทหารโสตทัศนูปกรณ์ ฯลฯ เห็นว่า มิได้มีหน้าที่หลักในการรบหรือปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่จะทำให้มีความจำเป็นต้องรับสมัครบุคคลที่มีสมรรถภาพทางร่างกายสมบูรณ์ที่สุด ทั้งพบว่าปัจจุบันมีข้าราชการทหารที่ติดเชื้อเอชไอวีภายหลังเข้ารับราชการแล้วยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบุคลากรดังกล่าว
มีสมรรถภาพในการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
            ด้วยเหตุนี้ การที่กองทัพอากาศกำหนดเงื่อนไขในประกาศรับสมัครสอบตามคำร้องให้มีการตรวจร่างกายซึ่งรวมถึงตรวจหาเชื้อเอชไอวีจึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งสุขภาพ อันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
            ส่วนกรณีการกำหนดให้ภาวะกะเทยเป็นโรคซึ่งไม่สามารถเข้ารับราชการทหารตามประกาศ รับสมัครนั้น หากพิจารณาจากข้อมูลโดยรวมสรุปได้ว่าภาวะกะเทยในทางการแพทย์หมายถึงภาวะ เพศกำกวม ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีอวัยวะเพศสองเพศ แต่ภาวะดังกล่าวไม่สามารถทราบได้จากการมองลักษณะทางกายภาพต้องอาศัยการพิจารณาทางการแพทย์หลายด้าน อีกทั้งยังไม่ปรากฏข้อมูลจากหน่วยงานอื่นที่ระบุให้เห็นว่าบุคคลที่มีภาวะกะเทยหรือภาวะเพศกำกวมมีสมรรถภาพหรือความรู้ความสามารถด้อยกว่าบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ดี การกำหนดให้ภาวะกะเทยเป็นโรคซึ่งไม่สามารถเข้ารับราชการทหารเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2540) ออกตามความพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยกฎหมายดังกล่าวมิได้ให้อำนาจกองทัพอากาศในการกำหนดหรือยกเลิกโรคที่ไม่สามารถเข้ารับราชการเองได้ กรณีนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ากองทัพอากาศปฏิบัติหรือละเลยการปฏิบัติอันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี เห็นว่าการกำหนดให้ภาวะกะเทยเป็นโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ถือเป็นการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล และเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ อันกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล จึงถือเป็นข้อกำหนดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อกองทัพอากาศและกระทรวงกลาโหม เพื่อดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้
            กรณีการกำหนดให้ภาวะกะเทยเป็นโรคซึ่งไม่สามารถเข้ารับราชการทหาร ให้กระทรวงกลาโหมยกเลิกคำว่าภาวะกะเทยในข้อ 2 โรคหรือสภาพร่างกายหรือสภาพจิตใจ ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ทั้งนี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้           กรณีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้กองทัพอากาศและกระทรวงกลาโหมแจ้งหน่วยงานในสังกัดยกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในการรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการตามตำแหน่งที่ปรากฏในประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหารทั้ง 3 ฉบับ ตามคำร้องนี้ รวมทั้งให้กระทรวงกลาโหมแจ้งประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเชื้อเอชไอวีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งกรณีการเข้ารับการรักษาและรับยาต้านเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2 กุมภาพันธ์ 2566
02-02-66-แถลงข่าว-5-2566_.pdf
 

 

02/02/2566
ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน