กสม. สุภัทรา ร่วมเป็นวิทยากรโครงการสัมมนาการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ได้รับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ....

13/09/2567 526

          เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 606 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมโครงการสัมมนาการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ได้รับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... ที่เสนอโดย นายกัณวีร์  สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยการสัมมนาดังกล่าวมีวิทยากรประกอบด้วย 1) นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2) นายกัณวีร์  สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม 3) นายธัญวัจน์  กมลวงศ์วัฒน์ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร 4) นายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ทั้งนี้ มีผู้ร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสนับสนุนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... เพราะสิทธิการไม่ถูกเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ และสอดคล้องกับข้อเสนอของรายงานการศึกษาวิจัยของสำนักงาน กสม.ที่จัดทำโดย รศ.คณาธิป  ทองรวีวงศ์ และคณะ ที่ระบุว่าประเทศไทยควรมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติที่เป็นกฎหมายกลาง เพื่อยกระดับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน

          โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ได้รับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายกัณวีย์  สืบแสง เข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปวิเคราะห์และใช้ประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในทุกขั้นตอนต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน