กสม. จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน ภาคใต้

13/09/2567 546

          วันที่ 13 กันยายน 2567 เวลา 09.00 – 16.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จังหวัดพัทลุง และผ่านระบบออนไลน์ (Facebook Live) โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากภาคประชาสังคมและภาคประชาชนต่าง ๆ ในภาคใต้ จำนวนประมาณ 40 คน

          ปัจจุบันมีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ยกร่างโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม/กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างปรับปรุงร่าง) 2) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ยกร่างและเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร/พรรคก้าวไกล (ปัจจุบันคือพรรคประชาชน) 3) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. .... ยกร่างและเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร/พรรคพลังประชารัฐ

          ทั้งนี้ การจัดงานสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการจัดทำข้อเสนอแนะตามหน้าที่และอำนาจของ กสม. ในการตรากฎหมายดังกล่าวต่อรัฐบาลและรัฐสภาได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา  พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา

          จากนั้นนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนในบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทั้งนี้ กิจกรรมในงานช่วงเช้าประกอบด้วย การเสวนา "เสียงของคนใต้ต่อปัญหาโลกร้อนและกฎหมายต้านโลกร้อน"  โดยมีวิทยากรประกอบด้วย คุณบัณฑิตา  อย่างดี  ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา คุณอภิศักดิ์  ทัศนี  กลุ่ม Beach for Life Thailand คุณจุฑาทิพย์  ชูสง เครือข่ายเกษตรกรทางเลือกพัทลุง คุณไมตรี  จงไกรจักร มูลนิธิชุมชนไท นายแพทย์สุภัทร  ฮาสุวรรณกิจ มูลนิธิภาคใต้สีเขียว คุณวิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี สมาคมรักษ์ทะเลไทย คุณภาคภูมิ  วิธานติรวัฒน์ มูลนิธิอันดามัน คุณบุญ  แซ่จุง  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และนายชาคริต  โภชะเรือง มูลนิธิชุมชนสงขลา

          กิจกรรมต่อมาเป็นวงเสวนา “กฎหมายต้านโลกร้อน: โอกาส ความท้าทาย และข้อเสนอแนะ” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.จันทราทิพย์  สุขุม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิชัย  งามชื่นสุวรรณ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกื้อ  ฤทธิบูรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคุณสมบูรณ์  คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ดำเนินรายการโดย อาจารย์ณัฐวุฒิ คงไข่ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

          ช่วงบ่ายมีการแลกเปลี่ยนและระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วม “คนใต้เอาไง ?  กับกฎหมายต้านโลกร้อน” จากการระดมความคิดเห็น แม้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ยังมีข้อถกเถียงถึงความจำเป็นในการมีกฎหมายเพื่อรับมือกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ยังไม่เร่งด่วน และควรมีการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่สังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนจัดทำร่างกฎหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มุ่งเน้นการลด ละ เลิก การใช้พลังงานรูปแบบเดิมจากฟอสซิลที่สร้างก๊าซเรือนกระจกและปฏิวัติไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ รวมถึงกฎหมายต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชน ในประเด็นต่างๆ มาตรการคุ้มครอง ปกป้อง เยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น คนยากจน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ จากการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ยังมองว่าระบบซื้อ-ขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคาร์บอนเครดิตที่อาจนำมาซึ่ง “การฟอกเขียว” อันเป็นการใช้ประโยชน์ทางพื้นที่สีเขียวเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจนั้น ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ ซึ่งระบบดังกล่าว มีการประเมินผลในบางประเทศพบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงไม่ควรมีระบบนี้เป็นหลักในกฎหมาย ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างกฎหมายมากขึ้น และควรทำให้เนื้อหากฎหมายมีความชัดเจน รับรองสิทธิของชุมชนอย่างครอบคลุม เพิ่มการมีส่วนร่วมในกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและดำเนินการ โดยเฉพาะในการจัดทำแผนต่าง ๆ ตามกฎหมาย และควรบูรณาการร่างกฎหมายนี้กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน และสร้างความสอดคล้องในการบังคับใช้กฎหมาย

          ในช่วงท้าย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวปิดการสัมมนา โดยกล่าวว่า กสม. ยังมีเวทีลักษณะนี้ครั้งสุดท้ายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง กสม. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปจัดทำข้อเสนอแนะตามหน้าที่และอำนาจของ กสม. ประกอบการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน