กสม. สุชาติ กล่าวปาฐกถาในกิจกรรมมอบประกาศนียบัตรหลักสูตรนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา

17/09/2567 520

          เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 ที่หอประชุมมูลนิธีมะทา บ้านศรียะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ผศ.ดร.สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมพิธีมอบประกาศนียบัตรหลักสูตรนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา จัดโดย องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ภายในงานมีกิจกรรมกล่าวปาฐกถาโดยนายกมลศักดิ์  ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส การนำเสนองานวิจัยของผู้เข้ารับการอบรม และเวทีเสวนารับฟังข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาของผู้เข้ารับการอบรมซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนา นักวิชาการ และนายรอมฎอน  ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชน เข้าร่วมสัมมนา

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "การปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นของทุกคน"  โดยกล่าวว่า ศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การตัดสินของพระเจ้าเท่ากันทุกคน และคำสอนของศาสดาที่ว่า มนุษย์ที่ดีเลิศคือมนุษย์ที่ยังประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ จากหลักการของศาสนาทำให้ในการทำงานของตนมิได้มองเรื่องสิทธิมนุษยชนเฉพาะที่กฎหมายบัญญัติหรือรับรอง แต่จะย้อนถามเสมอว่าอิสลามวางหลักการต่อเรื่องนั้นไว้อย่างไร กรณีการแสดงออกโดยการรณรงค์ให้ตระหนักถึงเหตุการณ์ในประเทศปาเลสไตน์ เป็นเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อแสวงหาความสงบ การเรียกร้องต่อหลักการมนุษยธรรมที่จะต้องไม่มีการเข่นฆ่า หรือ การใช้ความรุนแรงกับพลเมือง เด็ก สตรี ในประเทศปาเลสไตน์ แต่กลับถูกหน่วยงานของรัฐมองว่าเป็นเรื่องรณรงค์สนับสนุนความรุนแรง ซึ่งเราต้องตระหนักในคำกล่าวของมิสเตอร์มัลคอม เอ็กซ์ นักวิชาการศาสนาที่ว่า สื่อมวลชนมีพลังทำให้ผู้บริสุทธิ์เป็นคนผิด ทำให้คนผิดเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเชิญชวนให้ทุกศาสนิกชนเรียกร้องให้หยุดการกระทำที่เป็นความรุนแรง เคารพในสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม และทำให้เรื่องของประเทศปาเลสไตน์เป็นเรื่องของมนุษยธรรมมิใช่เป็นเรื่องของอิสลาม ในการนี้ได้ยกบทคำสอนของอิสลามที่ว่า “ห้ามการอธรรมต่อพระผู้เป็นเจ้าและห้ามอธรรมต่อมนุษย์ด้วยกัน” ซึ่งการกระทำของบุคคลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมเป็นการละเมิดต่อหลักการของพระเจ้า ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกบัญญัติมาเป็นเวลาพันกว่าปี แสดงให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนตามที่กฎหมายรับรองนั้นสอดคล้องกับหลักการของอิสลามซึ่งมีมาก่อนกฎหมาย นอกจากนี้ ขอให้คำนึงถึงกลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนพิการที่พบว่ามีคนพิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า 1 แสนคน และไม่สามารถเข้าถึงการปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องร่วมกันทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นจริง สำหรับการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังมีความท้าทายอยู่มาก และคนที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะประสบกับความท้าทายอย่างมากด้วย จึงขอเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนบนความท้าทายต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน