สำนักงาน กสม. จัดกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของ กสม. ประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ปี 2567

23/09/2567 283

          เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 เวลา 09.0 – 15.00น. นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้นธาร (พื้นที่ส่วนกลาง) โดยมีนายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม. นายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. นายพิทยา จินาวัฒน์ และนายบุญเเทน  ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษา กสม.  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม. ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมบีบี 202 (ชั้น 2) โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

          ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ 1) พลตำรวจตรี วิทยา เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2) หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด 3) นายวิพล กิติทัศนาสรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด4) ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการพิเศษฝ่ายประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรองอัยการสูงสุด) 5) ศาสตราจารย์ ดร. สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6) นายสมชาย หอมลออ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน 7) นายสัญญาภัชระ  สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ อีกทั้ง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้แก่สำนักงานกองทุนยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนความเห็น รวมจำนวน 40 ท่าน

          ที่ผ่านมา สำนักงาน กสม. ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้นธารภายใต้แนวคิด “NHRC Justice Café” โดยได้ระดมความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นธารใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1) การจับกุม การค้น การขัง และการออกหมายอาญา  2) การแจ้งความและการตั้งข้อกล่าวหา  3) การควบคุมตัวและการประกันตัว 4) การสืบสวนสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐาน 5) การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมและการใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และ 6) การตรวจสารเสพติด การจัดงานครอบคลุมทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งในส่วนของภาคประชาสังคม ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน รวมทั้งได้จัดกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาในหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 15 (ยธส. 15) สำนักงานกิจการยุติธรรม ซึ่งสำนักงาน กสม. ได้รวบรวมและสรุปผลข้อมูลทั้งหมดให้ที่ประชุมทราบด้วย

          การจัดงานในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีประสบการณ์สูงได้มาร่วมกันระดมความคิดเห็น วิพากษ์ และสะท้อนปัญหาในส่วนงานที่ได้ปฏิบัติ ทั้งในประเด็นการตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวและสิทธิของผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญาของพนักงานสอบสวน บทบาทของพนักงานอัยการในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและทนายความกับการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งจะได้ประมวลผลเพื่อนำเสนอในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ปี 2567 ที่ กสม. จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ต่อไป

          อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าการผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นประเด็นที่ท้าท้ายอย่างมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนโดยสร้างการมีส่วนร่วมและขจัดอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ต้นทางจนถึงชั้นบังคับโทษ รวมถึงการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้กลับสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันในการสร้างหลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน (Access to Justice for All) เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

เลื่อนขึ้นด้านบน