กสม. จัดเวทีสัมมนารับฟังความเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ภาคอีสาน - เตรียมประมวลความเห็นจากประชาชน 5 ภูมิภาค จัดทำรายงานข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

23/09/2567 309

          วันที่ 20 กันยายน 2567 เวลา 09.20 – 15.30 น. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวข้อ “การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรมและบนฐานของสิทธิมนุษยชน” ณ กรีน โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดขอนแก่น และผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้แทนภาคประชาสังคม ภาคสถาบันวิชาการ และภาคประชาชนต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมจำนวนประมาณ 50 คน

          กิจกรรมในช่วงเช้า มีการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมและแนะนำการทำงานรวมทั้งช่องทางการติดต่อสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีที่ตั้ง ณ จังหวัดขอนแก่น โดยนายภพธรรม สุนันธรรม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนในบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการเสวนาหัวข้อ “การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรมและบนฐานของสิทธิมนุษยชน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ (1) คุณเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้อำนวยการโครงการกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อชุมชน (2) ดร. สุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการอิสระ (3) คุณธารา บัวคำศรี  ผู้อำนวยการกรีนพีช ประเทศไทย และ (4)คุณนภวรรณ งามขำ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ดำเนินรายการโดย เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.

          โอกาสเดียวกันนี้ เครือข่ายประชาชนเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิต ภาคอีสาน ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาได้ประกาศจุดยืนและเรียกร้องให้พิจารณายกเลิกร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  หรือ ร่างกฎหมายโลกร้อนในปัจจุบันโดยเห็นว่ายังมีความไม่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นการสนับสนุนกลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นเพียงวาทกรรมการแก้ปัญหาโลกเดือดในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกแผนพัฒนา นโยบาย และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การส่งเสริมพื้นที่สีเขียวอย่างแท้จริง และกำกับดูแลกิจการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชน สิทธิเกษตรกร และกลุ่มชาติพันธุ์ชนพื้นเมือง ทั้งนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เร่งให้เกิดภาวะโลกเดือด โดยให้มีการกลไกเยียวยาชดใช้หนี้นิเวศและความสูญเสียเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

          ช่วงบ่ายมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมภาคส่วนต่าง ๆ ในประเด็น “การตอบสนองและรับมือกับวิกฤติโลกเดือดในมุมมองคนอีสาน” ดำเนินรายการโดย เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.

          ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขวิกฤตการณ์โลกร้อนหรือโลกเดือดในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ยกร่างโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ยกร่างและเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลและ (3) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. .... ยกร่างและเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

          ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำกฎหมาย นโยบาย และมาตรการในการจัดการกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสอดคล้องและไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน กสม. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอแนะกฎหมายและนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชนเพื่อรับฟังและรวบรวมข้อมูลความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ใน 5 ภูมิภาค โดยที่ผ่านมา สำนักงาน กสม. ได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจัดให้มีเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนทั้งสิ้นแล้ว 4 ภูมิภาค ได้แก่ (1) กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 19 เมษายน  2567 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กรุงเทพมหานคร (2) ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ เชียงใหม่ (3) ภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 ณ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี (4) ภาคใต้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จังหวัดพัทลุง โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 5 สำหรับภาคตะวันออเฉียงเหนือโดยหลังจากนี้ สำนักงาน กสม. จะได้รวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นทั้งหมดจัดทำเป็นรายงานข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายที่ตอบสนองต่อวิกฤตโลกร้อนหรือโลกเดือดบนหลักคิดด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน