สำนักงาน กสม. จัดอบรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

23/09/2567 307

          วันที่ 21 - 22 กันยายน 2567สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัดการอบรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มเปราะบาง และประชาชนทั่วไป ภายใต้โครงการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือราว 50 คน เข้าร่วมการอบรม ณ กรีนโฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยมีกิจกรรมดังนี้

          วันที่ 21 กันยายน 2567 ช่วงเช้า เริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมและแนะนำการทำงาน รวมทั้งช่องทางการติดต่อสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีที่ตั้ง ณ จังหวัดขอนแก่น โดยนายภพธรรม สุนันธรรม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          จากนั้น มีกิจกรรมการละลายพฤติกรรม (Ice Breaking) ความคาดหวังในการเข้าร่วมอบรมและเรียนรู้ภาพรวมสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือใคร ?” โดย นายณัฐวุฒิ กรมภักดี ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน จังหวัดขอนเเก่น และนางสาวณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) และการบรรยายหัวข้อ “ความรู้หลักการระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดยนางสาวนิชาภา ชาญวิสิฐกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนท้องถิ่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)

          ช่วงบ่าย นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บรรยายในหัวข้อ “การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดยได้แลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์การเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการทำงานหลายเรื่อง เช่น การถูกล่อลวงด้วยผลประโยชน์ และการสื่อสารเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้อง โดยประเด็นสำคัญเมื่อเคลื่อนไหวในประเด็นใด ๆ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ด้วย ดังนั้นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงจำเป็นต้องรู้กฎหมาย เข้าใจในหลักนิติรัฐและนิติธรรมเพื่อให้สามารถเรียกร้องสิทธิได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งรู้จักใช้ช่องทางและกลไกเชิงสถาบัน เช่น กสม. และองค์กรอิสระอื่น ๆ ในการปกป้องสิทธิของตนและชุมชนด้วย

          จากนั้น มีการแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “การถูกคุกคามของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” และ“ทักษะด้านความปลอดภัย ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดย (1) นางสาวอัญชลี  อิสมันยี  ภาคีเซฟบางกลอย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้เพื่อคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย การแสดงขับร้องเพลงสร้างกำลังใจให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (2) นายพัฒนะ ศรีใหญ่  ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำคดีให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้คำแนะนำเรื่องสิทธิของผู้ต้องหา/ผู้ต้องสงสัยตั้งแต่ชั้นจับกุมและการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นการพิจารณาคดีของศาล ตลอดจนการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย  และ (3) นายบัณฑิต หอมเกษ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงาน กสม. ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการประเมินความเสี่ยงที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญ โดยระบุภัยคุกคามที่เกิดและอาจเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ลดความเสี่ยงและความเปราะบางของสถานการณ์นั้น ๆ

          วันที่ 22 กันยายน 2567 ช่วงเช้า มีการบรรยายหัวข้อ “การบันทึกข้อมูลและเขียนรายงานแสวงหาข้อเท็จจริง” โดยนางสาวนิชาภา  ชาญวิสิฐกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนท้องถิ่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) โดยผู้เข้าร่วมได้ฝึกฝนการบันทึกข้อเท็จจริงและข้อมูลที่จำเป็นเมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการเรียกร้องสิทธิต่อกลไกหรือสถาบันต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

          ต่อมา มีอภิปรายหัวข้อ “แนวทางการร้องเรียนและการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” โดย (1) นางสาวธัญทิพย์  ยศกฤตวิทย์สกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึงกลไกการทำงานของยุติธรรมจังหวัดในการให้ความช่วยเหลือประชาชน และ (2) นายอาทิตย์  ร่มพนาธรรม นักวิชาการสิทธิมมนุษยชนชำนาญการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงช่องทางการร้องเรียนและติดต่อ กสม. รวมทั้งกลไกการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดกรณีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดหรือถูกคุกคาม ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันท่วงทีเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน

          ก่อนเริ่มกิจกรรมในช่วงบ่าย นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนรายหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น กรณีที่ดินทำกินของประชาชนทับซ้อนที่สาธารณะประโยชน์ของรัฐและระบุว่าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่

          ช่วงบ่ายมีกิจกรรมกลุ่มหัวข้อ “กลไก/แนวทางการประสานความร่วมมือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมกับเครือข่าย”  โดยวิทยากรประกอบด้วย  (1) นายฐิติวัฒน์  สายวร นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2) นายชานนท์  ชลพันธ์ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (3) นายณัฐวุฒิ กรมภักดี ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน จังหวัดขอนเเก่น และ (4) นางสาวณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) โดยมีการแบ่งกลุ่มระดมความเห็นเพื่อออกแบบ “โรงเรียนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคอีสาน” การจัดทำแผนผัง (mapping) เครือข่ายภาคประชาชนแต่ละกลุ่มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ และแนวทางการทำงานร่วมกับสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          ช่วงท้ายมีกิจกรรมตอบแบบประเมินวัดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนจากการอบรมในโครงการดังกล่าว โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดการอบรม สรุปว่า กสม. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรการอบรมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างและประเด็นที่หลากหลายต่อไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เลื่อนขึ้นด้านบน