กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 33/2567 กสม. ชี้กรณีเปลี่ยนแปลงรายการเอกสารทะเบียนราษฎรจากคนไร้รากเหง้าเป็นคนไทยพลัดถิ่นล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิ แนะกรมการปกครองเร่งรัดและกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงาน - มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแจ้งข้อห่วงกังวลต่อโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง แนะรับฟังความคิดเห็นรอบด้านและศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

26/09/2567 500

            วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 33/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

              1. กสม. ชี้กรณีเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรจากคนไร้รากเหง้าเป็นคนไทยพลัดถิ่นล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิ แนะกรมการปกครองเร่งรัดและกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงาน

 

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านคลินิกสิทธิมนุษยชนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ระบุว่า มารดาของผู้ร้องเป็นคนไทยพลัดถิ่นย้ายจากประเทศเมียนมาเข้ามาอาศัยกับญาติในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 ต่อมาเมื่อปี 2549 มารดาได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และเมื่อปี 2554 ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลฯ เป็นบุคคลเลขประจำตัวประเภท กลุ่ม 89 คือ กลุ่มคนไร้รากเหง้า โดยบัตรซึ่งออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จะหมดอายุในเดือนตุลาคม 2575 ทำให้มารดาไม่สามารถยื่นคำร้องขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ผู้ร้องจึงยื่นคำขอต่อปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร สำนักทะเบียนอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา (ผู้ถูกร้อง) ให้แก้ไขรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรของมารดาจากคนไร้รากเหง้าเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยได้ยื่นเอกสารหลักฐานทุกอย่างตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้รับใบรับคำร้องไว้เป็นหลักฐานจากผู้ถูกร้อง และเมื่อระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควร ณ ขณะวันที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. ผู้ถูกร้องก็ยังไม่ดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคลให้เสร็จสิ้นเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงขอให้เร่งรัดการดำเนินการ 

            กรณีดังกล่าวในเบื้องต้น กสม. ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสอบถามไปยังผู้ถูกร้องแต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา จึงมีมติรับไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ข้อ 16 รับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่า เป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน 

            จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า มารดาของผู้ร้องได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนบุคคลที่ไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 แต่ภายหลังรายการในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของผู้เสียหายไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถขอใช้สิทธิในการกำหนดสถานะบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหรือตามกฎหมายกำหนดได้ จึงยื่นขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรของผู้เสียหายจากคนไร้รากเหง้าเป็นคนไทยพลัดถิ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อผู้ถูกร้อง ผู้ถูกร้องไม่ได้ออกใบรับคำร้องไว้ให้ ซึ่งไม่สอดคล้องและเป็นไปตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 116 ที่กำหนดให้นายทะเบียนออกใบรับคำร้องมอบให้ผู้ยื่นคำร้องไว้เป็นหลักฐานหากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรไม่อาจดำเนินการได้แล้วเสร็จในวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง 

            ส่วนการที่ผู้ถูกร้องดำเนินการพิจารณาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรล่าช้า เห็นว่า หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ด่วนที่สุด ที่ มท 0309.1/ว 151 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เรื่อง การแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ปัญหาด้านสถานะบุคคลและสัญชาติ) กำหนดว่า การแก้ไขกลุ่มทางทะเบียนบุคคลที่จัดทำทะเบียนไว้ผิดกลุ่มนั้น ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นทุกสำนักทะเบียนที่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ถือปฏิบัติตามหนังสือสั่งการ โดยให้พิจารณาหลักฐานของผู้ร้องเป็นสำคัญ ไม่ว่าพื้นที่สำนักทะเบียนนั้นจะเคยมีการขึ้นทะเบียนชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผู้ร้องอ้างถึงหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี แม้หนังสือสั่งการดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคำขอไว้ แต่ผู้ถูกร้องควรพิจารณาคำขอและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบภายในระยะเวลาอันสมควร ซึ่งการพิจารณาเพื่อออกคำสั่งของหน่วยงานรัฐ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา วางแนวคำวินิจฉัยไว้ว่า ควรมีระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่บุคคลยื่นเรื่องต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้พิจารณาออกคำสั่งโดยเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 45 

            ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องพิจารณาคำขอโดยใช้เวลาเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำขอเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎร จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องพิจารณาคำขอล่าช้าเกินสมควร กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพที่ผู้เสียหายคือมารดาของผู้ร้องพึงจะได้รับ จึงเป็นกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เสียหาย

            อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบว่า นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อผู้ถูกร้องเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนราษฎรจนถึงวันที่จัดทำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่รับผิดชอบพิจารณาคำขอของผู้เสียหายได้เปลี่ยนผู้ปฏิบัติงานแล้วจำนวน 3 คน เนื่องจากย้ายไปปฏิบัติราชการในฝ่ายอื่นหรือที่อื่น จึงเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติงานไม่ต่อเนื่องและเกิดความล่าช้าอันส่งผลกระทบต่อสิทธิที่บุคคลจะได้รับตามกฎหมาย

            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร สำนักทะเบียนอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ผู้ถูกร้อง และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดพิจารณาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนราษฎรให้แก่ผู้เสียหายตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายกำหนด และให้กรมการปกครองใช้รายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ กำชับสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นแต่ละแห่งเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการไม่ออกใบรับคำร้องให้แก่ผู้ยื่นคำร้องและการพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรให้แก่ผู้ประสบปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็วหรือดำเนินการภายใต้กรอบระยะเวลาการดำเนินงานที่กำหนดไว้ 

            ทั้งนี้ ให้กรมการปกครองทบทวนระเบียบหรือหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนตามระเบียบหรือหนังสือสั่งการเพื่อเป็นกรอบระยะเวลาสำหรับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

 

              2. กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแจ้งข้อห่วงกังวลต่อโครงการแลนด์บริดจ์ แนะรับฟังความคิดเห็นรอบด้านและศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

 

                นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดชุมพรและระนอง ขอให้ตรวจสอบกรณีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งประกอบไปด้วย ท่าเรือ เส้นทางรถไฟทางคู่ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (motorway) ขาดการมีส่วนร่วม และจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2567 กสม. จึงได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการในพื้นที่ รวมทั้งได้ประมวลรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องและความเห็นของนักวิชาการ และได้รับทราบข้อเท็จจริงรวมทั้งข้อห่วงกังวลหลายประการ สรุปได้ดังนี้

            (1) กระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีประเด็นว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นแยกเป็นรายโครงการเฉพาะในส่วนที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลในภาพรวม นอกจากนี้การชี้แจงข้อมูลยังไม่ชัดเจน ไม่ลงลึกในรายละเอียด และยังไม่มีข้อมูลของโครงการอื่นที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายส่วน เช่น ขอบเขตที่ชัดเจนของแนวถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่า โรงไฟฟ้า เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของโครงการ นอกจากนี้ ขอบเขตการศึกษายังไม่ให้น้ำหนักที่มากพอในประเด็นผลกระทบของโครงการต่อประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่มีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเปรียบเทียบกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่าที่ควร ขณะที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของการรับฟังความคิดเห็นยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยพลัดถิ่น และมีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนกลุ่มคัดค้านโครงการเข้าร่วมรับฟังข้อมูลและแสดงความคิดเห็นด้วย

            (2) โครงการแลนด์บริดจ์จะส่งกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช สัตว์ป่า สัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งการก่อสร้างโครงการอาจก่อให้เกิดมลพิษ และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่อาจก่อให้เกิดปัญหาโรคระบาดและอาชญากรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการขนส่ง และการคมนาคม

            (3) รายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความไม่เหมาะสมเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าและผลกระทบในมิติต่าง ๆ กล่าวคือ รายงานการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของ สนข. เมื่อปี 2559 สรุปว่า จังหวัดระนองมีความเหมาะสมเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในระดับสูง มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) ขณะที่จังหวัดชุมพรมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตรในระดับสูง และเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีคุณค่าในระดับภาค และระบุว่าสะพานเศรษฐกิจไม่สามารถย่นระยะทาง ไม่สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงของเรือขนส่งสินค้า และเมื่อพิจารณาค่าธรรมเนียมที่จะสามารถเรียกเก็บได้จากการให้บริการขนส่งตู้สินค้าของสะพานเศรษฐกิจพบว่าไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการบำรุงรักษา จึงควรชะลอการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจออกไปก่อน

            ส่วนรายงานโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อปี 2525 ระบุว่า การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจทางบกเส้นทางใหม่เชื่อมโยงสองฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งประกอบไปด้วยอุโมงค์ ทางยกระดับ และรถไฟรางคู่ จะกระทบต่อพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ศาสนสถานสำคัญวัดนกงาง จังหวัดระนอง การเดินเรือจะส่งผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติแหลมสน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน การกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการังบริเวณเกาะพยาม จังหวัดระนอง เกาะครามและเกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร นอกจากนี้ โครงการมีข้อจำกัดเรื่องความเหมาะสม เมื่อพิจารณาจากผลกระทบในมิติต่าง ๆ เช่น ความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ ขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย การกระจายรายได้ และความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

            (4) ความเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและเศรษฐศาสตร์ เห็นว่า ที่ตั้งท่าเรือฝั่งอันดามัน อยู่ใกล้กับพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันของศูนย์มรดกโลก เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ ท่าเรือ เส้นทางเดินเรือ รวมถึงการขยายพื้นที่ชายฝั่งเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ยังอาจกระทบต่อเขตอนุรักษ์ การไหลของกระแสน้ำในทะเล การเดินทางของธาตุอาหาร และการวางไข่ของปลาทะเลในพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งทำประมงหลักของกลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมทั้งโครงการอาจไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่อาจดึงดูดการขนส่งสินค้าทางทะเลจากเส้นทางเดินเรือหลักทางช่องแคบมะละกาได้และไม่อาจย่นระยะทางขนส่งอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขนส่งมีราคาแพง

            จากประเด็นข้อห่วงกังวลข้างต้น กสม. โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 33 ที่บัญญัติให้ กสม. ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้มีหนังสือแจ้งข้อห่วงกังวลดังกล่าวต่อโครงการแลนด์บริดจ์ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 

            (1) ให้ สนข. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันชี้แจงข้อมูลให้เห็นภาพรวมของทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ และจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง และจังหวัดใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องอย่างรอบด้าน เป็นวงกว้าง ครอบคลุมทุกประเด็น และทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเฉพาะที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ เช่น ประมงพื้นบ้าน เกษตรกร ผู้ถูกเวนคืนที่ดิน วิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยพลัดถิ่น เป็นต้น

            (2) ให้หน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาการ ศึกษาผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แหล่งน้ำ การประมง เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตดั้งเดิม ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง และจังหวัดใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบ ตลอดจนคำนวณความคุ้มทุนโดยนับรวมความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินโครงการนี้ด้วย

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

26 กันยายน 2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน