กสม. ปรีดาลงพื้นที่รับฟังข้อมูลและผลกระทบของประชาชนหลังน้ำท่วมใหญ่จังหวัดเชียงราย

25/09/2567 265

          เมื่อวันที่ 20 - 22 กันยายน 2567 นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่รับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง ปัญหา และผลกระทบ หลังน้ำท่วมใหญ่จังหวัดเชียงราย โดยมีรายละเอียดการลงพื้นที่ดังนี้

          วันที่ 20 กันยายน 2567 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประชุมรับฟังสรุปสถานการณ์แม่น้ำโขงพรมแดนไทยลาว และน้ำท่วมใหญ่ลุ่มแม่น้ำอิง และแม่น้ำสาขา ร่วมกับนายนิวัฒน์  ร้อยแก้ว และนางปิยนันท์  จิตต์แจ้ง กลุ่มอนุรักษ์เชียงของ และได้ลงพื้นที่ดูผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ริมแม่น้ำงาวและแม่น้ำโขง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสวนส้มโอ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน ชุมชนยายเหนือและชุมชนบ้านม่วง ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และไปดูระดับน้ำโขงท่วมสูงจนมิดแท่งวัดระดับน้ำ ณ พื้นที่สุดเขตแดนที่แก่งผาได

          ต่อมาได้ร่วมประชุมรับฟังสถานการณ์น้ำท่วมจากผู้ประสบภัย ร่วมกับคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานราชการ ณ ตำบลเทศบาลม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย โดยชาวบ้าน และผู้นำชุมชนผู้ประสบภัย ระบุว่าผลกระทบครั้งนี้เกิดจากพายุและน้ำในแม่น้ำโขงเท้อขึ้นสูงท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหากมีเขื่อนจะมีผลกระทบมากขึ้น

          หลังจากนั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์แม่น้ำโขง ร่วมกับ ส.รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมาย ผู้แทนกรรมาธิการที่ดินฯ และนักวิชาการ โดยระบุว่ากรณีเขื่อนปากแบง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการตรวจสอบและออกข้อเสนอแนะเมื่อปี 2563 ดังนี้ 1)คณะรัฐมนตรีควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณารับซื้อพลังงานจากโครงการไฟฟ้าพลังงานเขื่อนปากแบง และตระหนักถึงข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วนที่มีต่อโครงการ โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา 2) คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยควรพิจารณาแนวทางในการเสนอให้ สปป.ลาว สร้างความมั่นใจ ว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งสองฝั่ง ต่อแม่น้ำโขงหรือต่อระบบนิเวศและระดับน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน 3) คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติควรพยายามยกระดับความสำคัญของแม่น้ำโขงโดยการจัดทำแผนอนุรักษ์ระบบนิเวศและวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน และขณะนี้มีข้อร้องเรียนปี 2566 เพิ่ม ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ การลงพื้นที่ของ กสม.รอบนี้ได้เห็นรูปธรรมของผลกระทบต่อสิทธิชุมชนกรณีแม่น้ำโขงเท้ออย่างชัดเจน

          วันที่ 21 กันยายน 2567 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เข้าร่วมเวทีประชุมฟังข้อมูลผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจได้รับหากมีการก่อสร้างเขื่อนปากแบง โดยกรรมาธิการที่ดินฯ ณ ห้องประชุมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จากนั้นได้ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมปากแม่น้ำอิง จากผู้นำชุมชน เกษตรกร ห้วยซ้อ-บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

          วันที่ 22 กันยายน 2567 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมรับฟังสถานการณ์พื้นที่รับน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จากปลัดอำเภอเชียงแสน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมทั้งได้ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในอำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งมีทั้งโคลนและขยะบนถนนทุกสาย

เลื่อนขึ้นด้านบน