กสม. สุภัทรา กล่าวเปิดงานและร่วมแสดงความคิดเห็นในงานการเจรจาทางสังคม: “การจ้างงานในแพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืนและมั่นคง”

21/10/2567 72

          เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องเสวนา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานและร่วมให้ความคิดเห็นในงานการเจรจาทางสังคม: “การจ้างงานในแพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืนและมั่นคง”ร่วมกับผู้แทนไรเดอร์ องค์กรภาครัฐ นักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้แทนพรรคการเมือง ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เจรจาหารือทางนโยบายระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อการจัดหาข้อเสนอแนะและร่างปฏิญญาว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิคนงานกิ๊ก (Gig Worker) รวมถึงแรงงานแพลตฟอร์มโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไรเดอร์” ผู้ซึ่งมีสถานะ “ไม่เป็นแรงงานตามกฎหมายแรงงานไทย” ให้ได้รับความคุ้มครองตามหลักเสี่ยงภัยและอันตรายอันเกิดจากการทำงานอย่างเป็นธรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 80 คน

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถือเป็น 1 ใน 5 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อน คุ้มครอง และส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเด็นปัญหาด้านสิทธิแรงงานถือเป็น 1 ในประเด็นที่ กสม. ให้ความสำคัญและร่วมขับเคลื่อน ผลักดันให้ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ถึงปัจจุบัน ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำงานและการจ้างงานผ่านรูปแบบแพลตฟอร์ม รวมถึงการถูกผู้ว่าจ้างงานเลิกจ้าง หรือการค้างค่าจ้างงาน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานที่ไม่ธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          ทั้งนี้ กิจกรรมในงานประกอบด้วย 1) การนำเสนอสื่อวีดิทัศน์ เรื่อง “ไรเดอร์อาชีพอิสระหรือถูกกดขี่” 2) การนำเสนอผลการศึกษา “เส้นทางการเรียกร้องสิทธิ การคุ้มครอง และการชดเชยกรณีการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องจากการทำงานของไรเดอร์” โดยคุณวรดุล  ตุลารักษ์ นักวิจัย PAR โครงการ GLP-POWER สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม 3) การสะท้อนปัญหาจากผู้แทนไรเดอร์ โดย ผู้แทนกลุ่มไรเดอร์ Center นำเสนอกรณีศึกษาไรเดอร์ที่บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต จากการทำงานส่งอาหารและพัสดุให้กับบริษัทแพลตฟอร์ม และผู้แทนกลุ่มไรเดอร์ภาคใต้ นำเสนอกรณีศึกษาไรเดอร์หญิงแม่เลี้ยงเดี่ยวกับความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ สังคม ภาวะหนี้สิน เพราะขาดหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคม

          4) การแสดงความคิดเห็นของผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณสหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและโฆษกกรรมาธิการแรงงาน ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน คุณศิววงศ์  สุขทวี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนคณะกรรมการประกันสังคม คุณสมชาย  หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย คุณศักดินา  ฉัตรกุล ณ อยุธยา ที่ปรึกษาสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

          5) การแบ่งกลุ่มให้ข้อเสนอแนะเพื่อเจรจาทางสังคม “ความต้องการชดเชยเยียวยาของไรเดอร์ กองทุนเงินทดแทนและการคุ้มครองประกันสังคม ตามมาตรา 33” ระหว่างผู้แทนกลุ่มคนงานแพลตฟอร์ม ผู้แทนไรเดอร์กรุงเทพฯ ภาคใต้ ชลบุรี สระบุรี และลพบุรี

 

 

 

เลื่อนขึ้นด้านบน