กสม. สุภัทรา ร่วมประชุมอภิปราย (ร่าง) กฎกระทรวงคุ้มครองพนักงานบริการ พ.ศ. .... และมาตรการคุ้มครองแรงงานภาคบริการ

05/11/2567 402

          เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายบุญแทน  ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าร่วมประชุมอภิปราย (ร่าง) กฎกระทรวงคุ้มครองพนักงานบริการ พ.ศ. .... และมาตรการคุ้มครองแรงงานภาคบริการ ร่วมกับนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ทนายความด้านสิทธิแรงงาน นักสื่อสารมวลชน ผู้แทนมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้แทนมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) จัดโดย มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) ณ ห้องประชุมเอราวัณ 4-5 ชั้น M โรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท เขตปทุมวัน

          เนื่องจากสภาพปัญหาของแรงงานในภาคบริการที่ไม่ได้รับความคุ้มครองในสถานะแรงงาน แม้ลักษณะการจ้างงานจะเข้าข่ายนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่ถูกผลักให้อยู่ในสถานะผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ ทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ประกอบกับความมีลักษณะพิเศษของงานบริการ เช่น การทำงานไม่เต็มเวลาหรือบางเวลา การคำนวณอัตราค่าจ้างที่แตกต่างจากแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เวลาการทำงานที่ส่วนใหญ่จะทำในเวลากลางคืน ลูกจ้างคนหนึ่งจะมีนายจ้างหลายคน และการมีลักษณะหรือเงื่อนไขในการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานที่แตกต่างจากงานปกติทั่วไป รวมถึงมีการทำงานทั้งในและนอกสถานประกอบการ จำเป็นต้องมีกฎกระทรวงหรือมาตรการคุ้มครองแรงงานภาคบริการเป็นพิเศษแตกต่างจากแรงงานภาคส่วนอื่น ๆ

          ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงคุ้มครองพนักงานบริการ พ.ศ. .... ดังนี้

          1. หน่วยงานของรัฐเห็นว่าปัญหาของแรงงานในสถานบริการ หรือพนักงานบริการอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง เมื่อสถานภาพของพนักงานบริการ คือ ลูกจ้างที่มีนายจ้างชัดเจนก็สามารถใช้กฎหมายคุ้มครองที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

          2. หากจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายคุ้มครองเป็นการเฉพาะจำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นลักษณะการทำงานที่มีความพิเศษเกินกว่าขอบเขตกฎหมายในปัจจุบันสามารถคุ้มครองได้ หรือกฎหมายปัจจุบันไม่สามารถตีความคุ้มครองได้อย่างครอบคลุม

          3. สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงขาดความพิเศษจำเพาะของลักษณะงานของแรงงานในภาคบริการ

          4. สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงบางข้อมีความซ้ำซ้อนกับข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีสภาพบังคับใช้อยู่แล้ว

          นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดตั้งการรวมกลุ่มของแรงงานในสถานบริการ อาทิ สหภาพแรงงาน สหภาพคนทำงาน สมาคม ชมรม ให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการขับเคลื่อนหรือต่อรองผลประโยชน์ เรียกร้องการคุ้มครองจากรัฐ และควรนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights) มาช่วยยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจภาคบริการโดยมีการวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการหันมาให้ความสำคัญและดูแลแรงงานในภาคบริการมากขึ้น

          ทั้งนี้ การประชุมติดตามมาตรการคุ้มครองแรงงานในสถานบริการ เป็นหนึ่งในประเด็นสิทธิแรงงานที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความสำคัญและขับเคลื่อนในเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชนในปี 2567 ด้วยต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน