กสม. ปรีดา เป็นวิทยากรในงานสัมมนาวิชาการ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการจัดการภัยพิบัติ "โลกเดือด จากสึนามิถึงเชียงราย 20 ปี วันสึนามิโลก"

08/11/2567 619

          เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรในงานสัมมนาวิชาการ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการจัดการภัยพิบัติ "โลกเดือด จากสึนามิถึงเชียงราย 20 ปี วันสึนามิโลก" โดยมีหน่วยงานภาคีเข้าร่วม ได้แก่ 1) นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 2) นายจำนง  สวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 3) นายโกมินทร์  อินรัสพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 4) นายบุญธรรม  เลิศสุขีเกษม กรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 5) นายอภินันท์  ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 6) ศ.สุริชัย  หวันแก้ว นักวิชาการอาวุโส 7) ผศ.ดร.เนรมิตร  จิตรรักษา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 8 ) นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 9) นายวิสุทธิ์  ตันตินันท์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย 10) ผู้ประสบภัยภาคเหนือ (กลุ่มชาติพันธุ์จากดอยช้างป่าแป) และ11) ผู้แทนเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เครือข่ายจัดการภัยพิบัติในภาคใต้ และภาคกลาง

          ในการสัมมนาดังกล่าว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้นำเสนอประสบการณ์จากกระบวนการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิ ที่เน้นสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนจากชุมชนประสบภัยเป็นชุมชนป้องกันภัย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะชุมชนท้องถิ่นเป็นด่านแรกของการเผชิญเหตุ ดังนั้นชาวบ้านจะต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อภัยมา นอกจากนี้ยังเห็นว่าการจัดการภัยพิบัติเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหลายด้าน ได้แก่ 1) สิทธิในการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และครบถ้วน รวมถึงการเตือนภัย และมาตรการป้องกันที่ควรปฏิบัติ 2) สิทธิในการได้รับการช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ที่พักพิง และการรักษาพยาบาล อย่างเหมาะสม 3) สิทธิในการได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงโรคระบาด สุขภาพจิต การบาดเจ็บ 4) สิทธิในการได้รับการชดเชยและการฟื้นฟูหลังจากภัยพิบัติ เช่น บ้านเรือน พื้นที่ทำกิน หรือทรัพย์สินที่สำคัญอื่น ๆ 5) สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ในกระบวนการวางแผนจัดการภัยพิบัติของภาครัฐเพื่อให้ตรงกับความต้องการในท้องถิ่น และ 6) สิทธิในการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย หรือสถานะทางสังคม

เลื่อนขึ้นด้านบน