กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 38/2567 กสม. เตรียมจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สิทธิของเรา อนาคตของเรา” 19–20 ธันวาคมนี้ - ร่วมประชุมกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน นำเสนอรายงานคู่ขนานของ กสม. และร่วมสังเกตการณ์การพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ของประเทศไทย

14/11/2567 177

            วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวหรรษา  หอมหวล เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 38/2567 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

            1. กสม. เตรียมจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สิทธิของเรา อนาคตของเรา” 19–20 ธันวาคมนี้

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เตรียมจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 19 - 20 ธันวาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “Our Rights Our Future สิทธิของเรา อนาคตของเรา” ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 3 - 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานในรูปแบบของสมัชชาสิทธิมนุษยชนที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยรับฟังความเห็นจากเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน ประชาชน รวมถึงภาคเอกชน และสื่อมวลชน เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแต่ละพื้นที่และข้อเสนอในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้จากกระบวนการสมัชชาจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน 

            กสม. ได้จัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนระดับชาติต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2567 นี้ กสม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ได้แก่ (1) สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม (3) สิทธิผู้สูงอายุ (4) การพัฒนาฐานข้อมูลและดัชนีสิทธิมนุษยชน และ (5) การพัฒนาแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน สำหรับองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา โดยแต่ละประเด็น กสม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายรับฟังความคิดเห็นในลักษณะสมัชชาห้องย่อยมาต่อเนื่องตลอดปี 2567 ซึ่งแต่ละประเด็นห้องย่อยจะมีการประมวลข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นข้อมติในการขับเคลื่อนงาน และจะมีการแถลงข้อมติดังกล่าว ตลอดจนประกาศเจตนารมณ์ เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกันต่อไปในวันสุดท้ายของงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน 

            ในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 ยังมีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย การมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 – 2567 การปาฐกถาพิเศษ โดยนายสมบัติ  บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา การจัดนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานของ กสม. และการร่วมจัดนิทรรศการของเครือข่าย การเปิดตัวสื่อการเรียนรู้ “That’s Right(s)! นี่แหละสิทธิ เพราะทุกก้าวของชีวิต คือ สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” และกิจกรรม Human Rights บอร์ดเกม

            ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนร่วมกับ กสม. และภาคีเครือข่ายสมัชชาสิทธิมนุษยชนได้ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์และแฟนเพจเฟซบุ๊กสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

            2. กสม. เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน นำเสนอรายงานคู่ขนานของ กสม. และร่วมสังเกตการณ์การพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ของประเทศไทย

 

            นางสาวหรรษา  หอมหวล เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ  กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee Against Torture) ครั้งที่ 81 ในโอกาสที่คณะกรรมการต่อต้านการทรมานจะมีการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) หรือ Country report ฉบับที่ 2 ซึ่งจัดทำโดยรัฐบาลไทย ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

            ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 คณะผู้แทน กสม. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานเป็นการเฉพาะ (private session) เพื่อให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ของประเทศไทย ก่อนที่คณะกรรมการต่อต้านการทรมานจะพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CAT ของรัฐบาล ในการประชุมดังกล่าว กสม. ได้นำเสนอพัฒนาการที่สำคัญรวมทั้งประเด็นที่ยังเป็นข้อท้าทายในการปฏิบัติตามอนุสัญญา CAT เช่น การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน อายุความของความผิดที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง บทบาทของ กสม. ในการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังเพื่อป้องกันการทรมาน การปฏิบัติตามหลักการไม่ผลักดันหรือส่งตัวบุคคลไปยังดินแดนที่มีความเสี่ยงที่บุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการถูกทรมาน (non-refoulement) และการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญา CAT (Optional Protocol to CAT: OPCAT) นอกจากนั้น ยังได้ตอบข้อซักถามของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานในประเด็นต่าง ๆ ที่คณะกรรมการฯ สนใจเพิ่มเติม รวมถึงการดำเนินงานของ กสม. ในการรับเรื่องร้องเรียนการทรมานและการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง 

            จากนั้นในวันที่ 5 – 6 พฤศจิกายน 2567 กสม. ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CAT ของประเทศไทย โดยคณะกรรมการต่อต้านการทรมานได้มีการหยิบยกประเด็นตามรายงานคู่ขนานของ กสม. ขึ้นหารือกับคณะผู้แทนรัฐบาลไทยที่ไปนำเสนอรายงานด้วย เช่น การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการกระทำทรมาน กฎหมายความมั่นคง การควบคุมตัวตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การปฏิบัติต่อบุคคลในสถานที่คุมขัง และอำนาจของ กสม. ในการเข้าตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง เป็นต้น โดยคณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้ตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ ด้วยวาจา และจัดทำคำตอบเป็นเอกสารเพิ่มเติมภายหลังการพิจารณาดังกล่าว

            นอกจากการประชุมกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแล้ว ประธาน กสม. และคณะยังได้พบหารือกับผู้อำนวยการสมาคมเพื่อป้องกันการทรมาน (Association for Prevention of Torture: APT) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความร่วมมือกับ กสม. ด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเกี่ยวกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติในการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังประเภทต่าง ๆ ตามพิธีสาร OPCAT นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับผู้อำนวยการ Universal Rights Group (URG) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และการติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเลขาธิการคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) เกี่ยวกับการดำเนินงานของ ICRC ในประเทศไทย โดยเฉพาะสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานการณ์ของผู้หนีภัยการสู้รบและผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา

            การเข้าร่วมประชุมของ กสม. ครั้งนี้เป็นการส่งเสริมความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและมีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา CAT มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กสม. จะได้ติดตามข้อเสนอแนะหรือข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding observations) ของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานที่มีต่อรัฐบาลไทยต่อไป

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

14 พฤศจิกายน 2566

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน