สำนักงาน กสม. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้โครงการคลินิกสิทธิมนุษยชน

18/11/2567 39

          วันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้โครงการคลินิกสิทธิมนุษยชน ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

          การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนสถานการณ์ ในประเด็นสิทธิและสถานะบุคคล แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ การเสริมศักยภาพกำลังพล รวมทั้งสร้างเครือข่ายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ โดยมีกิจกรรมดังนี้

          วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ช่วงเช้ามีการบรรยายหัวข้อ “แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อเสริมพลังการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน” โดย นายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. ช่วงบ่ายมีพิธีเปิดการประชุม โดยมีนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กสม. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ และนางปรีดา คงแป้น นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาว สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต้อนรับภาคีเครือข่ายและแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีภาคประชาชนและหน่วยงานราชการจากนั้นเป็นการอภิปรายรายงานสถานการณ์ปัจจุบันด้านสิทธิมนุษยชน ประเด็นสิทธิและสถานะบุคคล แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ การเสริมศักยภาพกำลังพล โดยวิทยากรประกอบด้วย (1) พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ ผศ.ดร. ผู้อำนวยการสนับสนุนวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ (2) นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล (3) นายภควินท์ แสงคง ผู้แทนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (4) พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สำนักงาน กสม. และ (5) นายอดิศร เกิดมงคล ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มแรงงาน

          วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 มีการอภิปรายแนวทางขับเคลื่อน และจัดทำแผนการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนใน 3 ประเด็นห้องย่อย ได้แก่ ห้องย่อยที่ 1 สิทธิและสถานะบุคคล (กลุ่มเด็กนักเรียนรหัส G พระภิกษุสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น) นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้แทนกรมการปกครอง ร่วมอภิปรายในหัวข้อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การจัดอบรมเพื่อส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ การประสานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนการออกหน่วยสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะ การขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ/ข้อเสนอทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ห้องย่อยที่ 2 แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมอภิปรายในหัวข้อ แรงงานในระบบประเด็นการรับรองสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว สิทธิในการต่อรองเจรจา การยกเลิกการจ้างที่ไม่มั่นคงทุกรูปแบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ (แรงงานเบอร์รี่) แรงงานข้ามชาติ แรงงานแพลตฟอร์ม (แม่บ้าน คนดูแลผู้ป่วย) แรงงานบริการ (Sex worker อาชีพบริการทั่วไป) ห้องย่อยที่ 3 การเสริมศักยภาพกำลังพล นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมอภิปรายในหัวข้อการดำเนินงานของกระทรวงกลาโหม กลไกการฝึกทหารใหม่ การตรวจเยี่ยมศูนย์ฝึกทหารใหม่ การกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 และการจัดทำหลักสูตรเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

          และกิจกรรมในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 มีอภิปรายแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน โดยนางสาวสุภัทรา นาคะผิว นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิ ทางการเมือง สำนักงาน กสม. และผู้แทนภาคประชาสังคม ในประเด็นสิทธิและสถานะบุคคล ประเด็นแรงงานนอกระบบและแรงงงานข้ามชาติ และประเด็นการเสริมศักยภาพกำลังพล ทั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่อแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

เลื่อนขึ้นด้านบน