กสม. ศยามล ประชุมหารือหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากลไกการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

18/11/2567 404

          เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงาน กสม. นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำ กสม. นางสาววันรุ่ง แสนแก้ว ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ร่วมประชุมกับอธิบดีและรองอธิบดีสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย และผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อหารือแนวทางการพัฒนากลไกการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

          ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้นำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์และสภาพปัญหาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ความหมายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หน้าที่และพันธกรณีของรัฐในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หลักการและแนวคิดทางกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการถูกฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) และกลไกการคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดี  

          ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวทางการรับเรื่องร้องเรียนและการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสถิติเรื่องร้องเรียนและประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีนโยบายให้ดำเนินการในลักษณะเร่งด่วน (Fast Track) โดยเน้นการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและการจัดการเรื่องที่รวดเร็ว เพื่อประสานการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ได้ทันท่วงที

          จากนั้น นายอานนท์  ยังคุณ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้นำเสนอในประเด็น บทบาทของภาครัฐในการพัฒนากลไกและแนวทางการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นกรอบการทำงานด้านการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร่วมกับพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 รวมทั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอยู่ระหว่างกำลังพัฒนาร่างกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) ซึ่งดำเนินการร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรับเรื่องกรณีการละเมิดสิทธินักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยส่วนใหญ่จากการส่งต่อเรื่องของ กสม. ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกลไกการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังไม่มีประสิทธิผลมากเพียงพอ

          หลังจากนั้น หน่วยงานภาครัฐได้หารือกันเกี่ยวกับแนวทางการประสานการคุ้มครองนักป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้แทนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอเกี่ยวกับการรับเรื่อง การส่งต่อเรื่อง การประสานงาน และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยยังไม่ได้จำแนกประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้โดยเฉพาะ ขณะที่สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมได้นำเสนอระบบการให้ความช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนภายใต้กระทรวงยุติธรรม โดยผ่านระบบ “Justice Care” ซึ่งจะมีการแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดยังได้ให้คำแนะนำการขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ณ สถานีตำรวจท้องที่ 1,484 แห่ง และสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 120 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยยึดหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันตามกฎหมายโดยกลไกที่มีอยู่แล้ว

          ในช่วงท้าย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้หารือเกี่ยวกับการประสานการเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน รวมทั้งการส่งต่อเรื่องร้องเรียน เพื่อพัฒนากลไกการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แจ้งที่ประชุมเกี่ยวกับการจัดฝึกอบรมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยสำนักงาน กสม. ซึ่งจะเชิญหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอัยการและตำรวจร่วมเป็นวิทยากรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่

เลื่อนขึ้นด้านบน