กสม. เข้าร่วมการประชุมประจำปีของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) ครั้งที่ 21 ณ กรุงดิลี ประเทศติมอร์-เลสเต

21/11/2567 9

          เมื่อวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2567 ที่กรุงดิลี ประเทศติมอร์-เลสเต คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นางปรีดา  คงแป้น นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวหรรษา หอมหวล เลขาธิการ กสม. และคณะ เข้าร่วมการประชุมประจำปีของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum) หรือ SEANF ครั้งที่ 21 โดยมีผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมแห่งติมอร์-เลสเต (Provedoria dos Direitos Humanos e Justiça: PDHJ) ในฐานะประธาน SEANF ในปี 2567 ทำหน้าที่ประธานและเจ้าภาพจัดการประชุม

          ในการประชุมครั้งนี้ นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอพัฒนาการและการดำเนินงานที่สำคัญของ กสม. ในช่วงปี 2567 โดยกล่าวถึงการที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568 – 2570 ซึ่ง กสม. พร้อมจะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ให้สถิติเรื่องร้องเรียนที่ กสม. ได้รับ ผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่สำคัญ การติดตามสถานการณ์และออกแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นที่กระทบต่อสาธารณะ การจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ และการเสริมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

          ในส่วนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF ที่เกี่ยวกับการป้องกันการทรมาน ซึ่ง กสม. มีบทบาทนำในประเด็นดังกล่าว นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงผลสำเร็จของการนำเสนอรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญา และความร่วมมือระหว่าง กสม. กับหน่วยงานภายในประเทศในการจัดทำแผนป้องกันการทรมานอย่างเป็นรูปธรรม การศึกษาวิจัยเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายตามหลักสิทธิมนุษยชน การตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว และการสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารของอนุสัญญา (OPCAT)

          ในวันสุดท้ายของการประชุม นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอบทบาทของ กสม. ในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ในกิจกรรมคู่ขนานการประชุมประจำปี หัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ESCR) ในพื้นที่ชายแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยกล่าวถึงบทบาทและความท้าทายของ กสม. ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนในฝั่งไทย และบทบาทของ กสม. ในการผลักดันมาตรการที่สำคัญ อาทิ การมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการลดฝุ่นละออง PM 2.5 การพัฒนากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และการทำงานร่วมกับ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ในการจัดทำร่าง “ปฏิญญาสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ กสม. ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชาติและภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

          ทั้งนี้ หลังการประชุมเสร็จสิ้น ผู้ตรวจการแผ่นดินติมอร์-เลสเตได้ส่งมอบตำแหน่งประธาน SEANF ให้กับประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Komnas HAM) ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี SEANF ในปี 2568 ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน