กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 39/2567 กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567 - เผยผลการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 3 พบปัญหาส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขแล้ว

22/11/2567 663

            วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์  ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 39/2567 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

            1. กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นสมควรให้มีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567 เพื่อยกย่อง เชิดชู และประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่อุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สังคมได้รับรู้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคคลและองค์กร ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประวัติ ผลงานของบุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลให้เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจแก่บุคคลอื่นในสังคม 

            กสม. ได้เห็นชอบรายชื่อบุคคลและองค์กรที่สมควรได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567 ตามที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567 เสนอเรียบร้อยแล้ว จึงขอประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567 รวมทั้งสิ้น 9 รางวัล ดังรายชื่อต่อไปนี้ 

         (1) นายเอกชัย  อิสระทะ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเขาคูหา นักสิทธิมนุษยชนที่ทุ่มเทในการทำงานด้านสิทธิทางการเมืองภาคพลเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยเป็นบุคคลสำคัญในการต่อสู้เคลื่อนไหวกรณีการให้สัมปทานระเบิดหินเขาคูหา ซึ่งสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชนมายาวนานกว่า 20 ปี กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนเขาคูหาออกจากการประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม

            (2) นางพัทยา  เรือนแก้ว ประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างแดน ประเทศเยอรมนี (NTO) นักวิชาการและนักวิจัยอิสระที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือทางกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิของคนไทยในประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและผู้หญิงข้ามเพศที่ตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวง การให้คำปรึกษาช่วยเหลือด้านกฎหมายครอบครัวแก่ผู้หญิงไทยที่สมรสกับชาวเยอรมัน รวมถึงเด็กไทยไร้สัญชาติ เพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสมและสามารถพำนักอยู่ในประเทศเยอรมนีได้อย่างมีศักดิ์ศรี

            (3) นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ขับเคลื่อนการทำงานด้านสิทธิชุมชน การทำประมงพื้นบ้าน การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเป็นผู้จัดตั้งเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัด รวมถึงนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ผ่านการรณรงค์ การจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งนำไปสู่การยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ โครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา - สตูล

           (4) นายนิติธร  ทองธีรกุล ผู้ชำนาญการอาวุโส สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา Thai PBS ศิลปินเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้มีความมุ่งมั่นในการสื่อสารเชิงวัฒนธรรมโดยนำปัญหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมาร้อยเรียงเป็นบทเพลง เพื่อสร้างความเข้าใจ และความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ได้สร้างสรรค์บทเพลงในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และศิลปินที่มีชื่อเสียงในการสื่อสารสิทธิมนุษยชนสู่สาธารณะ

            (5) เครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ กลุ่มเครือข่ายแรงงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิแรงงาน โดยเรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงการได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการ และการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนโดยประสานกับองค์กรระหว่างประเทศในกระบวนการส่งกลับประเทศไทย และการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศฟินแลนด์ ส่วนในประเทศไทย เครือข่ายฯ ได้ผลักดันให้เกิดความตื่นตัวและการตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิทธิแรงงานกระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

            (6) นางสาวนุชนารถ  บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ ผู้ทุ่มเทในการทำงานด้านมนุษยธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กเร่ร่อน เด็กไร้สถานะ เด็กไร้สัญชาติ ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทำงานด้วยความยากลำบากภายใต้ข้อจำกัดและแรงเสียดทานจากทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กที่มิได้มีสัญชาติไทย ซึ่งมีความเสี่ยงและต้องต่อสู้ทางกฎหมายจากการถูกดำเนินคดี 

 

            (7) องค์การบริหารส่วนตำบลจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ องค์กรภาครัฐระดับท้องถิ่น ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสมและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีการจัดตั้งงบประมาณรองรับการดำเนินงาน จัดกิจกรรมที่หลากหลาย และจัดตั้งศูนย์บริการประจำตำบลที่ให้การดูแลด้านสุขภาพและการฝึกอาชีพสร้างรายได้แก่กลุ่มคนเปราะบางในชุมชน

            (8) มูลนิธิกระจกเงา เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาสังคมเพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น คนไร้บ้าน บุคคลสูญหาย ผู้ป่วย ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ผู้สูงอายุ เด็กเร่ร่อน กลุ่มคนจนเมือง และผู้ประสบภัยพิบัติ โดยมีการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการจ้างวานข้าฯ ที่สามารถเปลี่ยนสถานะของคนไร้บ้านสู่การเป็นคนที่มีรายได้มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลบมโนภาพเดิมว่าคนไร้บ้านเป็นภาระของสังคมสู่การเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ

            (9) นายมนตรี  อุดมพงษ์ รักษาการบรรณาธิการข่าว 3 มิติ สื่อมวลชนผู้ทำงานเชิงสืบสวนสอบสวนที่มิได้เป็นเพียงผู้นำเสนอข่าว แต่มีความทุ่มเทในการทำหน้าที่ควบคู่กับการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยจากการลงพื้นที่แบบเกาะติดสถานการณ์ทำให้ได้หลักฐานสำคัญในคดีที่สามารถพิสูจน์ความจริงจนผู้เสียหายพ้นจากข้อกล่าวหาและได้รับการชดเชยเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่แกะรอยจนได้ข้อเท็จจริงที่สามารถขยายผลนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพลที่กระทำความผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย 

            “กสม. ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับ 9 บุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลฯ ประจำปี 2566 – 2567 นี้ โดยเป็นที่ประจักษ์ว่า องค์กรและบุคคลทุกคนที่ได้รับเลือกมีผลงานในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความมุ่งมั่นในการทำงาน แม้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความยากลำบาก จนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อบุคคลและองค์กรอื่น ๆ ในสังคมได้ ทั้งนี้ กสม. จะมีพิธีมอบรางวัลให้แก่บุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 20 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร” นายวสันต์ กล่าว

 

            2. กสม. เผยผลการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 3 ระบุหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาการละเมิดด้วยดี

 

            นายภาณุวัฒน์  ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 4) ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. มาอย่างต่อเนื่อง โดย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ยุติการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 3 จำนวน 12 เรื่อง เนื่องจากหน่วยงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นสาระสำคัญแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยการติดตามผลการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

            ตัวอย่างเรื่องที่ กสม. มีมติ ให้ยุติการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน มีดังนี้

            (1) รายงานตรวจสอบเรื่องสิทธิชุมชน เช่น กรณีร้องเรียนว่า การประกอบกิจการของโรงงานผลิตแผ่นไม้ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และจังหวัดนนทบุรี ได้ติดตามการปรับปรุงโรงงานโดยพบว่าปัจจุบันระบบกำจัดฝุ่นละอองใช้งานได้ตามปกติ ไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน และในรอบปีที่ผ่านมา ไม่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องมลพิษแต่อย่างใด หรือกรณีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำเสียซึ่งปล่อยจากฟาร์มเลี้ยงสุกร เมื่อปี 2560 ปัจจุบันพบว่าทั้ง 3 จังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ส่วนความเสียหายเดิมที่เกิดขึ้น ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทผู้ประกอบกิจการชดใช้ค่าเสียหายและฟื้นฟูแหล่งน้ำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี

            (2) รายงานตรวจสอบเรื่องสิทธิเด็ก กรณีบุคลากรของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์กระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนปฐมวัย เมื่อปี 2563 พบว่า ปัจจุบัน โรงเรียนฯ ได้จัดให้มีตัวแทนผู้ปกครองเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนและมีช่องทางเพื่อให้ผู้ปกครองแจ้งข้อกังวลหรือความต้องการต่าง ๆ รวมทั้งได้เพิ่มมาตรการคัดกรองบุคลากรเพื่อตรวจคุณสมบัติให้มีความเหมาะสม รวมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับบุคลากรทางการศึกษาโดยร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และหน่วยงานทางวิชาการพัฒนาบุคลากรด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ในส่วนของหน่วยงานรัฐ คุรุสภาได้บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ของครูในการคุ้มครองเด็กไว้ในข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553 และอยู่ระหว่างปรับปรุงร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัยและครูการศึกษาพิเศษ ขณะที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยครู หรือพี่เลี้ยง และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยบรรจุหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ด้วย 

            (3) ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ข้อเสนอแนะเมื่อปี 2563 กรณีผลกระทบด้านการจราจรของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี จากความล่าช้าของการก่อสร้าง การรื้อย้ายสาธารณูปโภคและการส่งมอบพื้นที่ในบางจุด พบว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้ติดตามการทำงานของบริษัทผู้ได้รับสัมปทานและจัดทำแผนจัดการจราจรร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และติดตามการปฏิบัติตามแผนงานกระทั่งโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดนำปัญหาและข้อค้นพบจากการดำเนินโครงการฯ ไปเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนหรือกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาให้แก่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐในอนาคตด้วย 

            นอกจากนี้ กสม. ชุดที่ 3 ยังมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน เมื่อปี 2564 จากกรณีปัญหาที่นักปกป้องสิทธิฯ ถูกคุกคามในลักษณะต่าง ๆ โดยมีเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยมีเจตนากลั่นแกล้งหรือระงับไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการหรือโครงการต่าง ๆ ของรัฐ โดยปัจจุบันทราบว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ใช้วิธีการชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์หรือกล่าวหาเป็นวิธีการแรก และให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว ส่วนกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของนักปกป้องสิทธิฯ และร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติศึกษาแนวทางการจัดทำมาตรฐานคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (SLAAP) โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ให้ขยายความคุ้มครองครอบคลุมถึงผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญา และอยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 เพื่อให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ หรือบุคคลที่น่าเชื่อว่ามิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้มากขึ้น ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งและจัดตั้งหน่วยงานภายในเพื่อเร่งรัดการสืบสวนหรือดำเนินมาตรการอื่นใดที่จำเป็นตามหน้าที่ เพื่อทำให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหายซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จได้รับการสะสาง

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

22 พฤศจิกายน 2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน