กสม. ศยามล ร่วมงานเสวนา สถานการณ์สิทธิด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน “กลไกสากลเพื่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน: ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ”

28/11/2567 353

          เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมงานเสวนา สถานการณ์สิทธิด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน “กลไกสากลเพื่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน: ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ” จัดโดย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch) และองค์กรเครือข่าย เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความเกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์สิทธิด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาการใช้แผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (NAP) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยดำเนินการเข้าเป็นสมาชิก “องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) หรือ The Organization for Economic Cooperation and Development ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลวิจัยและ คำปรึกษา แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความมั่นคง ความเท่าเทียม ความเป็นอยู่ที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ และเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของบรรษัท หรือบริษัทต่างๆ และสมาชิก ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และสิทธิในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังรวมถึงระบบการร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทที่มีการปฏิบัติต่ำกว่ามาตรฐาน โดย OECD มุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานผ่านการจัดทำนโยบายอย่างสมัครใจและมีผลผูกพัน โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD รัฐบาลจะต้องจัดตั้ง National Contact Point หรือ ศูนย์ติดต่อประสานงานแห่งชาติด้านการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ (ศูนย์NCP) เพื่อส่งเสริมมาตรฐานในแนวปฏิบัติ OECD และช่วยแก้ไขหากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทหรือ บริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติต่ำกว่ามาตรฐาน

          แม้การใช้กลไก OECD จะยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน แต่ กสม. เห็นว่า กลไกนี้ยังเป็นประโยชน์ในการนำมาบังคับใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ประชาชนยังสามารถใช้กลไกภายในประเทศที่มี เช่น กลไกการร้องเรียนผ่าน กสม. ที่จะทำให้กลไกของภาครัฐดำเนินการ เนื่องจาก กสม. มีอำนาจในการเรียกขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐได้ การใช้กลไกการทำหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย อาทิ การระดมทุน สินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การกระทำอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน หรือการใช้กลไกเครือข่ายภาคประชาสังคมเจรจาต่อรองกับองค์กรที่กำกับดูแลภาคธุรกิจที่ทำละเมิดให้ปฏิบัติตามแนวทางการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน