กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 40/2567 กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี - เสนอกรมการปกครองทบทวนร่างกฎหมายสมาคมและมูลนิธิ ห่วงจำกัดเสรีภาพในการรวมตัวหรือสมาคมตามระบอบประชาธิปไตยเกินสมควรแก่เหตุ

29/11/2567 476

            วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 40/2567 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

            1. กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นผู้ต้องขังของเรือนจำกลางคลองเปรม ตั้งแต่ปี 2548 โดยศาลอาญาพิพากษาว่าผู้ร้องกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและปล้นทรัพย์ โทษจำคุกรวม 26 ปี 32 เดือน ระหว่างถูกคุมขังในช่วงปี 2556 – 2565 ผู้ร้องถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยเรือนจำและเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น (ผู้ถูกร้อง) เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ร้องจำนวน 7 คดี แต่จนถึงปัจจุบันพนักงานสอบสวนยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย โดยผู้ร้องมีกำหนดพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวในเดือนกันยายน 2567 จึงประสงค์ให้ผู้ถูกร้องเร่งรัดการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในทางราชทัณฑ์ และขอให้ตรวจสอบ 

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 68 บัญญัติให้รัฐจัดให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 วรรคแรก และมาตรา 134 วรรคสาม ได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาให้มีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองสิทธิของบุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดให้มีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำในการได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น โดยพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2565 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ดำเนินงานและกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า ซึ่ง ตร. มีประกาศ เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 กำหนดระยะเวลาการสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ และมีคำสั่งที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุมตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 กำหนดแนวทางการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมในคดีอื่น ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นไว้ (ผู้ต้องหาอายัด) โดยให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นให้แล้วเสร็จ โดยไม่ต้องรอให้พ้นโทษในคดีเดิมก่อน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว

            ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมได้ร้องทุกข์ต่อผู้ถูกร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร้องจำนวน 7 คดี โดยมีคดีที่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ผู้ถูกร้องได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปสำนวนสอบสวนเสนอพนักงานอัยการแล้ว 1 คดี ส่วนอีก 6 คดี ยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายนับแต่วันรับคำร้องทุกข์ และได้อายัดตัวผู้ร้องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 กระทั่งวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ภายหลังผู้ร้องได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. พนักงานสอบสวนจึงได้ถอนอายัดตัวผู้ร้องต่อเรือนจำกลางคลองเปรม 

            อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ผู้ร้องถูกอายัดตัวซึ่งยาวนานมากกว่าสิบปี โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานสอบสวน ผู้ถูกร้อง มิได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีข้างต้นแต่อย่างใด และคดีทั้งหมดนี้เป็นคดีที่ผู้ถูกร้องรู้ตัวผู้กระทำความผิดและสถานที่คุมขัง อีกทั้งเป็นการดำเนินคดีอาญาทั่วไปที่มิได้มีความซับซ้อนในทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการสอบสวนภายในระยะเวลา 2 เดือนนับตั้งแต่วันรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพราะอาจมีผลทำให้คดีขาดอายุความได้ นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องไม่ได้บันทึกข้อมูลทางคดีไว้ในระบบฐานข้อมูล ทำให้ไม่สามารถติดตามผลความคืบหน้าทางคดีให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน และแม้ผู้ถูกร้องจะชี้แจงว่า การโยกย้ายพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบบ่อยครั้งทำให้การดำเนินคดีไม่ต่อเนื่อง ก็ไม่ใช่เหตุผลอันควรแก่เหตุที่ใช้กล่าวอ้างในกรณีสอบสวนคดีอาญาล่าช้า เนื่องจากการโยกย้ายต้องมีการส่งมอบงานและมอบหมายงานให้กับผู้รับผิดชอบคนใหม่ดำเนินการภายในการควบคุมกำกับของผู้กำกับการสถานีตำรวจในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน รวมทั้งต้องมีการรายงานความคืบหน้าทางคดีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกระยะ 

            ดังนั้น จึงเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ผู้ถูกร้อง ในการดำเนินคดีต่อผู้ร้องที่ล่าช้าเกินสมควร ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 คำสั่งและประกาศ ตร. ที่เกี่ยวกับการเร่งรัดการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งกติกา ICCPR ทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนอย่างรวดเร็ว และทำให้เสียประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            อย่างไรก็ดี กสม. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การที่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 70 กำหนดให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำใช้ดุลพินิจในการลงโทษทางวินัยกับผู้ต้องขังคู่ขนานกับการดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินการทางวินัยโดยไม่ดำเนินคดีอาญาก็ได้ในกรณีที่ผู้ต้องขังได้กระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดลหุโทษ นั้น กสม. เห็นว่า หากเป็นกรณีที่ผู้ต้องขังมีการกระทำความผิดเล็กน้อย และไม่มีผู้เสียหายหรือผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดี ผู้บัญชาการเรือนจำควรพิจารณาลงโทษทางวินัยแทนการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญา เพื่อไม่ให้คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมและเกิดปัญหาความล่าช้า ซ้ำซ้อน ดังเช่นกรณีตามคำร้องนี้

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมราชทัณฑ์ สรุปได้ ดังนี้ 

            (1) ให้ ตร. สอบสวนสาเหตุแห่งความล่าช้าและดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ผู้ถูกร้อง และสั่งการให้เร่งรัดการสอบสวนคดีของผู้ร้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้งกำชับสถานีตำรวจในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ประกาศ ตร. เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 และคำสั่ง ตร. ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 นอกจากนี้ ให้พัฒนาระบบติดตามคดีเพื่อให้คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีสามารถเข้าดูและติดตามความคืบหน้าทางคดีได้ พร้อมทั้งกำชับให้พนักงานสอบสวนบันทึกข้อมูลหรือรายงานความคืบหน้าทางคดีในระบบสารสนเทศข้อมูลอาชญากรรมของ ตร. อย่างสม่ำเสมอและเป็นปัจจุบัน

            (2) ให้กรมราชทัณฑ์กำหนดแนวทางให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 70 กรณีผู้ต้องขังกระทำผิดอาญาและความผิดนั้นเป็นความผิดลหุโทษ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของเรือนจำ ความผิดตามมาตรา 73 หรือความผิดฐานพยายามหลบหนีที่คุมขัง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำวินิจฉัยลงโทษทางวินัยโดยไม่ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอาญา เนื่องจากเป็นคดีเล็กน้อยและไม่มีผู้เสียหายหรือผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดี เพื่อไม่ให้คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจำนวนมากเกินจำเป็น

 

            2. สำนักงาน กสม. แนะกรมการปกครองทบทวนร่างกฎหมายสมาคมและมูลนิธิ ห่วงจำกัดเสรีภาพในการรวมตัวหรือสมาคมตามระบอบประชาธิปไตยเกินสมควรแก่เหตุ

 

            นายภาณุวัฒน์  ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ได้รับทราบข้อห่วงกังวลของภาคประชาสังคมต่อร่าง พ.ร.บ. สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. .... ฉบับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (law.go.th) ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 26 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น ยกเลิกความในส่วนสมาคมและมูลนิธิ ตามมาตรา 78 ถึงมาตรา 136 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยกเลิกความผิดเกี่ยวกับสมาคมและมูลนิธิ ตามมาตรา 49 ถึงมาตรา 69 พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 โดยกำหนดบทนิยาม เงื่อนไข และวิธีการจดทะเบียนสมาคมและมูลนิธิเพิ่มเติม กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้จะเป็นกรรมการของสมาคมและมูลนิธิด้วยเหตุผลความมั่นคงของประเทศหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และกำหนดให้มีบทลงโทษทั้งทางอาญา ปกครอง และพินัย ซึ่งทำให้เกิดข้อห่วงกังวลจากภาคประชาสังคมว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาตรวจสอบ กำกับ และควบคุม สมาคมและมูลนิธิเกินสมควรแก่เหตุอันขัดต่อหลักเสรีภาพในการรวมตัวหรือสมาคมตามระบอบประชาธิปไตย

            เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 สำนักงาน กสม. ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. สมาคมและมูลนิธิ ฉบับดังกล่าว ร่วมกับผู้แทนกรมการปกครอง ภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิ และพิจารณาร่างกฎหมายประกอบหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว มีความเห็นอันเป็นข้อห่วงกังวล สรุปได้ดังนี้ 

            (1) เสรีภาพในการรวมตัวหรือการสมาคม ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และตราสารระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งในระบอบประชาธิปไตย เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเห็นว่า รัฐต้องสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมให้สมาคมและมูลนิธิสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิผล ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงทรัพยากร ปราศจากการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสม และละเว้นการใช้กฎหมายและการกระทำที่แทรกแซงการใช้สิทธิและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเน้นการส่งเสริมสนับสนุนและการพัฒนามากกว่าการควบคุมกำกับ

            (2) การรายงานทางการเงินที่ได้รับอุดหนุนหรือบริจาคจากต่างประเทศ ร่างมาตรา 8 วรรคสอง กำหนดให้มูลนิธิหรือสมาคมที่รับเงินอุดหนุนหรือบริจาคจากต่างประเทศ เกินจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดจะต้องรายงานต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวัน เป็นการสร้างภาระเกินสมควรและไม่จำเป็น โดยเฉพาะสมาคมและมูลนิธิที่มีขนาดเล็กมีจำนวนบุคลากรน้อยและทรัพยากรจำกัด และอาจเป็นช่องทางให้มีการใช้ดุลพินิจทั้งที่มีการจัดทำรายงานงบดุลประจำปีอยู่แล้ว โดยเห็นว่าการเข้าถึงทรัพยากรมนุษย์ วัสดุอุปกรณ์ และเงินจากแหล่งทุน เป็นสิทธิที่มีอยู่ในเสรีภาพในการสมาคม และจำเป็นต่อการดำรงอยู่และการดำเนินงานของสมาคมและมูลนิธิ การจำกัดเงินทุนที่ขัดขวางการดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายจึงถือเป็นการแทรกแซงเสรีภาพในการสมาคม นอกจากนี้ การกำหนดให้จัดทำรายงานใด ๆ ควรจะต้องทำให้ง่ายเพื่อความสะดวกต่อสมาคมและมูลนิธิที่อาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนสมาชิก ทุน และการบริหารจัดการ และไม่ควรนำไปสู่การปิดสมาคมหรือดำเนินคดีอาญากับผู้แทนสมาคม 

            (3) การกำหนดบทลงโทษ จะต้องเป็นไปตามหลักความเหมาะสม จำเป็น และได้สัดส่วน และจะต้องสัมพันธ์กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด โดยเฉพาะการกำหนดโทษทางอาญาจะต้องมีความชัดเจนไม่คลุมเครือและจะต้องคาดหมายผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองได้ เนื่องจากการกำหนดบทลงโทษจะกระทบต่อเสรีภาพในการรวมตัวหรือการสมาคมซึ่งส่งผลทางลบต่อการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ การพัฒนาประเทศ การเข้าถึงโอกาสและการจัดการปัญหาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบางที่ยังมีความเหลื่อมล้ำและไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ตลอดจนกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย และสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำที่เป็นความผิดเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรกำหนดให้มีโทษทางอาญาแต่อาจใช้โทษทางพินัยแทน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ที่พึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง โดยเห็นว่าการกำหนดให้ยุบเลิกเพิกถอนและการระงับการดำเนินงานสมาคมและมูลนิธิถือเป็นการลงโทษที่รุนแรง จะต้องปฏิบัติตามข้อ 22 (2) ของกติกา ICCPR ซึ่งระบุเหตุที่สามารถจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวหรือการสมาคมอย่างเคร่งครัด รวมถึงหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น ใช้กับการกระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงเพียงพอ และควรดำเนินการโดยศาลซึ่งมีความอิสระและเป็นกลาง

            (4) การกำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการของสมาคมหรือมูลนิธิ อาจเป็นแทรกแซงการบริหารงานของสมาคมหรือมูลนิธิ เช่น ร่างมาตรา 18 วรรคสี่ ให้อำนาจนายทะเบียนมีคำสั่งจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ทั้งชุดหรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการเท่าที่มีอยู่ หรือร่างมาตรา 27 ให้อำนาจนายทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการสมาคมชั่วคราวทั้งคณะ หรือแต่งตั้งสมาชิกหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นกรรมการแทนได้ 

            (5) การกำหนดจำนวนสมาชิกในการจดทะเบียนเป็นสมาคม ร่างมาตรา 12 กำหนดสมาชิกขั้นต่ำในการขอจดทะเบียนสมาคม ว่าต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 30 คน อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสมาคมที่มีจำนวนสมาชิกเพียงเล็กน้อยในการใช้เสรีภาพในการรวมตัวหรือการสมาคม ซึ่งอาจละเมิดต่อเสรีภาพดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐในการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการจัดทำบริการ นอกจากนี้ การนำมาเป็นเหตุในการเพิกถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนเมื่อมีสมาชิกน้อยกว่าสามสิบคนติดต่อกันกว่าสองปีเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และควรแจ้งให้สมาคมแก้ไขก่อนมีการบังคับมาตรการใด ๆ 

            (6) การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ว่าต้องไม่เป็นผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่กว้างและคลุมเครือ จึงเป็นช่องทางให้มีการใช้ดุลพินิจและตีความได้กว้างขวางซึ่งอาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิและการเลือกปฏิบัติ 

            (7) การให้อำนาจเข้าไปในอาคาร สถานที่ หรือบริเวณที่ทำการของสมาคมหรือมูลนิธิเพื่อตรวจสอบ ร่างมาตรา 49 ให้อำนาจนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปบริเวณที่ทำการของสมาคมหรือมูลนิธิเพื่อตรวจสอบโดยไม่มีหมายศาล อาจเป็นการกระทำละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวซึ่งจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจและกฎหมายดังกล่าวต้องตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งเป็นลักษณะให้อำนาจเข้าไปค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งอาจละเมิดหรือกระทบต่อเสรีภาพในเคหสถาน จึงต้องให้ผู้ครอบครองหรือเจ้าของสถานที่อนุญาตหรือให้ความยินยอม หรือต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

            (8) การตรากฎหมายควรสอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยแนวทางจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย โดยควรมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ สภาพปัญหา และผลกระทบของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้วกับสมาคมและมูลนิธิ และตรวจสอบความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายใหม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 และหากจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ก็ควรดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 

            ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะแจ้งไปยังอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ. สมาคมและมูลนิธิ โดยนำความเห็นข้างต้นมาประกอบการพิจารณา เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย และไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายหรือออกกฎหมายควรจะมุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อสร้างพลังประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ ให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยให้สมาคม มูลนิธิ ภาคประชาสังคม ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายทุกขั้นตอน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพในการรวมตัวหรือการสมาคมต่อไป

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

29 พฤศจิกายน 2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน