ประธาน กสม. เข้าร่วมและกล่าวปิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 13 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

02/12/2567 409

          เมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2567 ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรประไพ  กาญจนรินทร์ พร้อมด้วยนางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวหรรษา  หอมหวล เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วม “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 13” (13th United Nations Forum on Business and Human Rights) ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนผลักดันหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการคุ้มครองเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม โดยการประชุมในปีนี้มีหัวข้อหลัก (theme) คือ การผสมผสานมาตรการต่าง ๆ อย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ (‘Smart Mix of Measures’ to protect human rights in the context of business activities) 

          การประชุมในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 3,800 คน จาก 156 ประเทศ ทั้งในรูปแบบ onsite และ online จากหลากหลายภาคส่วนทั่วโลก ทั้งผู้แทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น สหภาพแรงงาน ทนายความ และนักวิชาการ โดยมีการประชุมหารือในประเด็นย่อยและกิจกรรมสร้างเครือข่ายรวมกว่า 60 กิจกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างสมดุลที่เหมาะสมของมาตรการทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการทางกฎหมายและสมัครใจ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากผลกระทบที่เกิดจากธุรกิจ โดยมีประเด็นสำคัญของการหารือ เช่น 1) บทบาทหน้าที่ของรัฐเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนผ่านมาตรการทางนโยบายและกฎหมาย 2) เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน 3) การเข้าถึงการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากธุรกิจ 4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน 5) สิทธิของชนพื้นเมืองและการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และ 6) การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) เป็นต้น

          ในช่วงพิธีปิดการประชุม ประธาน กสม. ได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการผลักดันให้เกิดการนำหลักการ UNGPs ไปใช้ในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอความสำเร็จและข้อท้าทายจากประสบการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไทย ตลอดจนข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ไขข้อท้าทายเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทด้านการส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับภาคธุรกิจและผู้กำหนดนโยบาย การผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดและข้อท้าทายที่เผชิญนั้น กสม. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนและเน้นย้ำความจำเป็นของมาตรการบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและสร้างความรับผิดชอบเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้ง กสม. ยังส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงความพร้อมด้านทรัพยากร เครื่องมือและความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการดังกล่าว

          นอกจากนี้ ประธาน กสม. ได้เสนอแนะแนวทางสำคัญ คือ การมีมาตรการเชิงบังคับให้ธุรกิจขนาดใหญ่ป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่กำหนดไว้ตามแนวทางการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ในขณะเดียวกัน ก็ควรมีมาตรการสนับสนุนและจูงใจสำหรับ SMEs เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือสินเชื่อ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs ดำเนินการตาม HRDD อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน

          การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นอกจาก กสม. จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นโอกาสได้รับทราบแนวคิดและข้อท้าทายใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนให้กับภาคเอกชนและผู้ประกอบธุรกิจต่อไปด้วย

เลื่อนขึ้นด้านบน