กสม. ศยามล ร่วมนำการอภิปราย หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในระบบการประเมินผลกระทบของไทย”

02/12/2567 346

          เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์  พลเพชร และนางสาวมณีรัตน์  มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ร่วมการอภิปรายหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในระบบการประเมินผลกระทบของไทย” โดยมีวิทยากรร่วม คือ รองศาสตราจารย์ ดร.คนางค์  คันธมธุรพจน์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร. สุรศักดิ์  บุญเรือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.วิสาข์  สุพรรณไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการอภิปรายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือและระบบประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessment: HRIA) ซึ่งสำนักงาน กสม. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และพัฒนาใช้ HRIA เป็นเครื่องมือประเมินผลกระทบที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย ทั้งในระดับแผนงาน ยุทธศาสตร์ กฎหมายและนโยบาย โครงการกิจกรรมรวมไปถึงระดับชุมชนพื้นที่

          ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการหรือผู้ที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาตโครงการ และบริษัทผู้จัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ

          ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาของระบบประเมินผลกระทบในปัจจุบัน ทั้งในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเป็นอิสระของผู้จัดทำและผู้พิจารณารายงาน การคำนึงถึงการประเมินคุณค่าและนิเวศบริการที่เชื่อมโยงประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ รวมถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้างจากการแทรกแซงทางการเมือง และขาดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญในการประเมินผลกระทบจากมิติของผู้ทรงสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นเครื่องมือเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาที่พบจากข้อร้องเรียนซึ่งส่งมาที่ กสม. โดยเฉพาะสิทธิชุมชน สุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้เสนอแนะต่อการบูรณาการ HRIA ในระบบประเมินที่มีอยู่ อาทิ การกำหนดขอบเขตสิทธิมนุษยชนและการใช้เกณฑ์ประเมินที่เป็นสากลและมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนที่โปร่งใส การติดตามผลและการเสริมศักยภาพของชุมชน รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอโดยไม่เป็นภาระต่อผู้เกี่ยวข้อง

          ข้อมูลจากการอภิปรายครั้งนี้ มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาพัฒนา HRIA ในระยะต่อไป ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมพัฒนาและสนับสนุนการนำ HRIA ไปใช้  โดยมุ่งหวังว่า HRIA จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยให้กระบวนการพัฒนาโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างยั่งยืนและและเป็นธรรมต่อทุกคน

เลื่อนขึ้นด้านบน