ประธาน กสม. หารือกับ Working Group on discrimination against women and girls: WGDAWG

04/12/2567 380

          เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 เวลา 16.30 น. ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรประไพ  กาญจนรินทร์ พร้อมด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว  นางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำ กสม. นางสาวหรรษา หอมหวล เลขาธิการ กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ให้การต้อนรับ Ms. Haina Lu และ Ms. Ivana Krstić สมาชิกคณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง (Working Group on discrimination against women and girls: WGDAWG) ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 2 – 13 ธันวาคม 2567 เพื่อหารือสถานการณ์สิทธิผู้หญิงและเด็กหญิงของไทย และการดำเนินการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยข้อมูลและความเห็นจากการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้จะเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) สมัยที่ 59 ในเดือนมิถุนายน 2568 ต่อไป

          ในโอกาสนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ให้ข้อมูลการทำหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมประสานการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชน ซึ่งผู้แทน WGDAWG ได้แสดงความยินดีกับการได้รับสถานะ A ของ กสม. และชื่นชมบทบาทการทำงานที่ผ่านมา

          ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิงและข้อท้าทายที่สำคัญ อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว การเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ การลิดรอนสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง สภาพความเป็นอยู่ในสถานที่คุมขัง การคุกคามทางเพศในพื้นที่ออนไลน์ การเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์โดยปลอดภัย การจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และสถานการณ์ในบริบทเฉพาะของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การแต่งงานในเด็ก ตลอดจนบทบาทของ กสม. ในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อาทิ การตรวจสอบเรื่องร้องเรียน การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายร่วมกับเครือข่าย การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม การประชุมหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อประกอบการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี และการสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายผู้หญิงในพื้นที่

          นอกจากนี้ กสม. ได้แลกเปลี่ยนถึงข้อท้าทายในการทำงาน อาทิ ความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนของคนในสังคมไทย และข้อผูกพันของหน่วยงานในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. ซึ่ง กสม. ยังคงมุ่งมั่นทำงานทั้งในเชิงคุ้มครองและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้สังคมรับรู้ต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กสม. หวังว่าการดำเนินงานของ WGDAWG จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานของภาครัฐมีความตระหนักถึงสถานการณ์และความท้าทายในการประกันและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิงในประเทศมากยิ่งขึ้น

 

 

เลื่อนขึ้นด้านบน