กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 41/2567 กสม. มีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกา ที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ - ประธาน กสม. เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 13 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

06/12/2567 475

                วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นางรัตติกุล  จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 41/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. มีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รับทราบมาว่าคณะรัฐมนตรีได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามความในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามความในมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไปแล้ว 6 พื้นที่ และจะประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอีกหลายพื้นที่ ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง 

            กรณีดังกล่าว กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะ ที่ 1/2565 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาการสำรวจการถือครองที่ดินเพื่อจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และเนื้อหาสาระของกฎหมายที่ไม่ได้มุ่งหมายในการรับรองสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน โดย ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา และได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ยืนยันไม่แก้ไขตามข้อเสนอแนะของ กสม. และมิได้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างใดต่อไป

            กสม. ขอเน้นย้ำว่า การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะกระทบสิทธิของประชาชนใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเด็นแรก การเหมารวมและตีตราว่าผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมเป็นอาชญากร ด้วยประเทศไทยมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ จารีตประเพณี และวัฒนธรรม มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาสูงและตามชายฝั่งทะเลมาแต่เดิม แม้จะไม่มีเอกสารแสดงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มีสิทธิในที่ดินตามวิถีวัฒนธรรมหากครอบครองมาก่อนการประกาศสงวนหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐ การกำหนดให้บริเวณใดเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นการสงวนหวงห้ามเฉพาะพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเท่านั้น ไม่อาจลบล้างสิทธิในที่ดินของประชาชนได้ ซึ่งรัฐมีหน้าที่พัฒนากลไกในการพิสูจน์และรับรองสิทธิอย่างเป็นธรรม

            แม้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จะกำหนดให้มีการสำรวจถือครองภายใน 240 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่การสำรวจดังกล่าวยังตกหล่น ไม่ครบถ้วน และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะการไม่สำรวจแปลงที่ถูกตรวจยึดและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี 2552-2564 ที่เป็นช่วงเวลาสำรวจการถือครอง พบว่ามีจำนวนกว่า 25,400 คดี และมีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกว่า 6,400 คน เนื้อที่ประมาณ 2.9 แสนไร่ ซึ่งบางแปลงไม่ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิอย่างเป็นธรรม อันเป็นปัญหาที่ กสม. ได้เคยชี้ให้เห็นแล้วในข้อเสนอแนะที่แจ้งไปยัง ครม. ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ด้านป่าไม้และที่ดิน พ.ศ. …. 

            นอกจากนี้ หลังสำรวจการถือครองที่ดินแล้วไม่ปรากฏในทางกฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ว่ามีกระบวนการจำแนกกลุ่มผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม แต่บัญญัติในกฎหมายแม่บทให้รัฐบาลกำหนดโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบเหมารวมและตีตราว่าผู้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์เป็นผู้ยากไร้และผู้บุกรุกซึ่งลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามปรากฏในบทบัญญัติของร่างพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีสัญชาติไทยเป็นผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินที่อื่นอีก อยู่อาศัยและทำกินภายใต้การอนุญาตของรัฐเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้สิทธิในที่ดิน สามารถครอบครองที่ดินได้ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 40 ไร่ ส่วนที่ครอบครองเกินต้องคืน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม และเจ้าของที่ดินที่ผ่านการพิสูจน์สิทธิซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านเนื้อที่ครอบครองตามนัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ทั้งนี้ การอยู่อาศัยและทำกินโดยชอบด้วยกฎหมายจะต้องเข้าร่วมโครงการนี้เท่านั้น หากไม่เข้าร่วมจะไม่ได้รับการยกเว้นโทษทางอาญาและยังมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงการไม่นำสิทธิดั้งเดิมของบุคคลมาพิจารณา และแสดงให้เห็นว่าปัญหาการถูกทำให้เป็นอาชญากรไม่เคยถูกแก้ไข

            ประเด็นที่สอง การถูกไล่รื้อและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์ ภายใต้บังคับของกฎหมายแม่บท โครงการตามพระราชกฤษฎีกานั้นมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด 20 ปี ย่อมหมายความว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่บุคคลและชุมชนออกจากพื้นที่ และไม่มีแผนรองรับการโยกย้ายที่อยู่อาศัยและที่ทำกินไว้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้บุคคลกลุ่มเปราะบางมีสภาพความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนและไม่มั่นคง กระทบต่อสิทธิมนุษยชนหลายประการ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ สิทธิในที่อยู่อาศัย และสิทธิในสุขภาวะอนามัยที่ดี ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

            นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีความเสี่ยงที่จะถูกไล่รื้อจากพื้นที่โดยไม่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณพื้นที่สูง และชายฝั่งทะเล แทบจะไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินบรรพบุรุษของตนเองตามกฎหมาย พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งยังมีการใช้ที่ดินแตกต่างจากคนพื้นที่ราบ เช่น ไร่หมุนเวียน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ เป็นต้น ซึ่งการไม่รับรองสิทธิในที่ดินให้กลุ่มชาติพันธุ์ถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์ อันสอดรับกับการที่ประเทศไทยไม่ยอมรับสถานะความเป็นเผ่าพันธุ์และสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองทางกฎหมาย แม้จะประกาศรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) และเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) แล้วก็ตาม

            ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 จึงมีมติเห็นควรให้แจ้งข้อพิจารณาตลอดจนข้อเสนอแนะกรณีดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม. ทบทวนและชะลอการประกาศใช้ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไว้ก่อน จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้และที่ดิน แล้วเสร็จ หรือมีการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 64 และ 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน และไม่เป็นภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควร ซึ่งขณะนี้ กสม. อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. ประธาน กสม. เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 13 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

            นางรัตติกุล  จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ  กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยที่ปรึกษาประจำ กสม. เลขาธิการ กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ได้เข้าร่วม “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 13” (13th United Nations Forum on Business and Human Rights) ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

            การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมใหญ่ประจำปีจัดโดยคณะทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Working Group on Business and Human Rights) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: HRC) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการคุ้มครองเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม 

            หัวข้อหลักสำหรับการประชุมปีนี้ คือ การผสมผสานมาตรการต่าง ๆ อย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ (‘Smart Mix of Measures’ to protect human rights in the context of business activities) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 3,800 คน จาก 156 ประเทศ ทั่วโลก ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น สหภาพแรงงาน ทนายความ สื่อมวลชน และนักวิชาการ ซึ่งมีการประชุมออนไลน์ทางไกลด้วย

            เวทีการประชุมแบ่งเป็นประเด็นย่อยและกิจกรรมสร้างเครือข่ายรวมกว่า 60 กิจกรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างสมดุลที่เหมาะสมของการใช้มาตรการระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งมาตรการแบบบังคับและสมัครใจ เพื่อให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจได้รับการคุ้มครองและเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างประเด็นสำคัญของการหารือ เช่น บทบาทหน้าที่ของรัฐเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนผ่านมาตรการทางนโยบายและกฎหมาย เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน สิทธิของชนพื้นเมืองและการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) เป็นต้น

            ในช่วงปิดการประชุม ประธาน กสม. ได้ร่วมกล่าวถึงบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจและผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนปฏิบัติตามหลักการ UNGPs อย่างจริงจัง รวมทั้งนำเสนอความสำเร็จและข้อท้าทายจากประสบการณ์ของ กสม. ไทย ตลอดจนข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ไขข้อท้าทายเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทด้านการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายตระหนักรู้และเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชน และนำไปปฏิบัติหรือดำเนินการให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม การผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและการชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดและข้อท้าทายที่เผชิญนั้น กสม. ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นย้ำความจำเป็นของมาตรการบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและสร้างความรับผิดชอบเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน

            นอกจากนี้ กสม. ยังส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงความพร้อมด้านทรัพยากร เครื่องมือและความรู้ความเข้าใจ ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ความสนใจและพร้อมที่จะดำเนินการดังกล่าว

            ประธาน กสม. ยังได้เสนอแนะแนวทางสำคัญ คือ การมีมาตรการเชิงบังคับให้ธุรกิจขนาดใหญ่ป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่กำหนดไว้ตามแนวทางการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ในขณะเดียวกัน ก็ควรมีมาตรการสนับสนุนและจูงใจสำหรับ SMEs เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือสินเชื่อ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs ดำเนินการตาม HRDD อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ การผสมผสานมาตรการต่าง ๆ ทั้งภาคบังคับและสมัครใจอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ภาคธุรกิจเป็นทั้งผู้มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคม

            การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ นอกจาก กสม. จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นโอกาสได้รับทราบแนวคิดและข้อท้าทายอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

6 ธันวาคม 2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน