กสม. และ ตร. ชูผลงานเด่น “แผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570” พร้อมขับเคลื่อนให้เป็นจริง นำ “ระบบงานตำรวจชุมชน” เสริมความโปร่งใสและความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมต้นธารในสังคมไทย

10/12/2567 333

          เมื่อวันที่ 2-3 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมมูฟเวนพิค จิมบาลัน จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมการสานเสวนาอาเซียน ครั้งที่ 1 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและระบบงานตำรวจ (ASEAN Dialogue on Human Rights and Policing) จัดโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR) ภายใต้การนำของผู้แทนอินโดนีเซีย (H.E. Yuyun Wahyuningrum) การสานเสวนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) หารือและแลกเปลี่ยนแนวทางทางการปฏิบัติของหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมถึงสถาบันตำรวจในภูมิภาคอาเซียน (2) รับฟังการนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติที่ดี ข้อท้าทายและช่องว่างของระบบงานตำรวจตามหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และ (3) สานสร้างเครือข่ายการทำงานทั้งในเชิงวิชาชีพและเชิงสถาบัน ในลักษณะชุมชนเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community)

          การประชุมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วม จำนวน 75 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ ผู้แทน AICHR องค์กรภายใต้อาเซียน หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ใน 2 ส่วนหลัก คือ การปฏิบัติงานขององค์กรตำรวจแห่งชาติและระดับท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับระบบงานตำรวจตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยผู้นำการแลกเปลี่ยนเป็นผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านงานกระบวนการยุติธรรมจาก 8 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ราชอาณาจักรไทย (ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกระทรวงยุติธรรม (ยธ.)) และเครือรัฐออสเตรเลีย และการปฏิบัติงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนำการแลกเปลี่ยนจากผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย (กสม.) อินโดนีเซีย (Komnas HAM) มาเลเซีย (SUHAKAM) ออสเตรเลีย (AHRC) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ติมอร์-เลสเต (PDHJ) โดยมีผู้แทนจาก AICHR ทั้ง 10 ประเทศ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ในฐานะผู้สังเกตการณ์ (observer) ผู้แทนภาคประชาสังคมจากไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศรวมถึงองค์กรสหประชาชาติในประเทศอินโดนีเซีย เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

          ในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ช่วง “บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการสนับสนุนระบบการทำงานของตำรวจชุมชนในฐานสิทธิมนุษยชน และการทำหน้าที่เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นสาธารณะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติงานของ กสม. โดยร่วมมือกับ ตร. จัดทำ “แผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570”  โดยสรุปได้ดังนี้

          (1) กสม. และ ตร. ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งทาง ตร. ได้มอบ พล.ต.ต.วิทยา  เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองกฎหมายและคดี ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของ ตร. ในการสำรวจสถานีตำรวจ และสถานที่ควบคุมตัวในการกำกับดูแลของ ตร. ทั้ง 11 แห่ง ตามคำสั่งสำนักงาน กสม. ที่ 110/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570

          (2) ในการจัดทำโครงสร้างแผนฯ ก่อนดำเนินการสำรวจ เริ่มต้นจัดเก็บและสังเคราะห์ข้อมูลแผนทั่วไปของ ตร. ใน 2 ส่วน คือ 2.1) การทำงานของ ตร. กำหนดนโยบาย และคำสั่งต่าง ๆ ในการกำกับ และ 2.2) การทบทวนแผนยุทธศาสตร์ของ ตร. ทั้งประเด็นด้านความมั่นคง และการอำนวยกระบวนการยุติธรรม (3) การสำรวจสถานีตำรวจ 10 แห่ง และศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการ ตร. ส่วนหน้า 1 แห่ง ใน 3 มิติ

          โดยมีข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะ คือ (ก) มิติโครงสร้างทางกายภาพ พบว่า สถานีตำรวจภูธร (สภ.) บางแห่ง ไม่มีที่ทำการถาวร มีข้อจำกัดการใช้ที่ดิน และสถานที่เก่า ชำรุดทรุดโทรม (อายุมากกว่า 35 ปี) (อาทิ สภ.แม่แฝก จ.เชียงใหม่ สภ.ควนมีด จ.สงขลา และ สภ.บางหลวง จ.นครปฐม) มีปัญหาการถ่ายเทของสภาพอากาศ และอื่น ๆ ในขณะที่ สภ. บางแห่งที่สร้างใหม่ (อาทิ สภ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และ สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่) มีการออกแบบที่ช่วยป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม โดย ตร. ได้รับการจัดสรรงบประมาณการปรับปรุง สภ. บางแห่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการ (อาทิ สภ.บ้านเป็ด จ.ขอนแก่น สภ.ควนมีด จ.สงขลา และ สภ.บ้านธิ จ.ลำปาง) นอกจากนั้น ยังพบว่า กล้องประจำตัว (body worn camera) มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร. และในบางส่วนก็ชำรุด จึงมีข้อเสนอแนะ ทั้งการออกแบบ สภ. ให้เหมาะสมกับหลักสิทธิมนุษยชน การนำอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มาปรับใช้ การติดป้ายสถานที่อย่างเหมาะสม ลดการตีตรา การจัดหาอุปกรณ์ทั้งกล้องประจำตัวและระบบสนับสนุนการจัดเก็บ รักษามูล รวมถึงการเปิดโอกาสสร้างความร่วมมือในการตรวจเยี่ยมจากกลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (อาทิ กสม. ในภารกิจของกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและการป้องกันการทรมาน และกลไกระดับชาติเพื่อป้องกันการทรมาน (NPM) หากมีการจัดตั้งขึ้น)

          (ข) มิติกระบวนการปฏิบัติงาน พบข้อจำกัด ทั้งด้านการขาดแคลนงบประมาณและทรัพยากรที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน จำนวนพนักงานสอบสวน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องไม่สมดุลกับภาระงาน ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเข้าใจในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างจำกัด ดังนั้น จึงเสนอให้มีการบริหารจัดการภาระงานให้เหมาะสม การพัฒนาและสร้างอัตรากำลังแบบก้าวหน้า อาทิ การเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้สนับสนุนงานที่มิใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ (non-uniform) การดูแลค่าตอบแทน หรือสร้างแรงจูงใจในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรของ ตร. และการฝึกอบรมต่าง ๆ โดย กสม. จะสนับสนุนให้บุคลากรของ ตร. ได้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงที่ กสม. จัดขึ้นด้วย

          (ค) มิติด้านนโยบายการพัฒนาสถานีตำรวจ เป็นการสร้างภาวะความเป็นผู้นำ การประกาศเจตนารมณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง การกำหนดกลไกที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผน และการกำหนดเกณฑ์หรือมาตรฐานเพื่อยกระดับการทำงาน โดยนำแนวทางสิทธิมนุษยชน (Human Rights based Approach) มาปรับใช้

          (4) โดยสรุป จากการสำรวจสถานีตำรวจและสถานที่ควบคุมตัวในการกำกับดูแลของ ตร. เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม เห็นว่า 4.1) ตร. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทอุตสาหะ และให้ความร่วมมือกับ กสม. เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการเร่งสะสางทะเบียนประวัติอาชญากร และการแก้ไขปัญหาการอายัดตัวดำเนินคดีล่าช้า ส่งผลให้การอำนวยกระบวนการยุติธรรมทำได้ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 4.2) พบข้อท้าทายหลัก ได้แก่ อาคารสถานที่เก่า ชำรุดทรุดโทรมทำให้มีข้อจำกัดการปฏิบัติงาน จำนวนบุคลากรผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ ความซับซ้อนของขั้นตอนการดำเนินงาน อุปกรณ์โดยเฉพาะกล้องประจำตัว (body worn camera) ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร. รวมถึงความรู้ความเข้าใจ และทักษะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และ 4.3) การประมวลข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะในประเด็นหลัก ๆ ทั้ง การจัดสรรงบประมาณให้กับ ตร. เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน การปรับปรุงอาคารสถานที่ การจัดหาบุคลากรทำหน้าที่สนับสนุนในบางภารกิจ (อาทิ ด้านอำนวยการ ธุรการ จัดซื้อจัดจ้าง หรือการเงิน) ในลักษณะของบุคลากรที่มิใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ (non-uniform) รวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน และอื่น ๆ

          (5) ข้อค้นพบ และข้อเสนอใน 3 มิติข้างต้น ได้นำมาปรับเป็นแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 โดยมีข้อเสนอหลักใน 3 ยุทธศาสตร์ และ 13 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง (มี 3 ประเด็นยุทธศาสตร์) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความเข้มแข็งการบังคับใช้กฎหมาย (มี 4 ประเด็น) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิผลของการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม (มี 6 ประเด็นยุทธศาสตร์) พร้อมกับได้เสนอตัวชี้วัดระดับยุทธศาสตร์ และแนวทาง/โครงการสำคัญ เพื่อเป็นตัวอย่างการจัดทำกิจกรรมด้วย

          ในตอนท้าย พันตำรวจเอก น้ำเพชร  ทรัพย์อุดม ผู้แทนกองกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ประเทศไทย สะท้อนการทำงานของ ตร. กับ กสม. โดยเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ (1) การเกิดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานระหว่างกัน อาทิ ประเด็นการอายัดตัว และความล่าช้าในการดำเนินคดี หรืออื่น ๆ รวมถึงติดตามแก้ไขปัญหาร่วมกัน (2) กสม. ผลักดันให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแก้ไขปัญหาของ ตร. ทั้งเรื่องจำนวนบุคลากรที่ทำงาน หรืองบประมาณในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ (3) การช่วยเหลือ สร้างความน่าเชื่อถือ และประชาชนได้ประโยชน์จากการทำงานของ ตร.

          ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กสม. และ ตร. พร้อมขับเคลื่อนแผนดังกล่าวให้เป็นจริง โดยดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบงานการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลเพื่อป้องกันการทรมาน ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบงานการตรวจเยี่ยม ติดตาม และป้องกันการทรมาน รวมทั้งดำเนินการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพและสถานที่ควบคุมตัวบุคคล ตามพื้นที่และหน่วยงานเป้าหมาย และการเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่กลไกระดับชาติเพื่อป้องกันการทรมาน (National Preventive Mechanism: NPM) ตามพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) ผ่านการสำรวจ/ตรวจเยี่ยมสถานีตำรวจในพื้นที่ 4 ครั้ง ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวัง คือ (1) การติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงานตาม “แผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570” และ (2) การจัดทำแนวทางขั้นตอนปฏิบัติงานมาตรฐาน (Guiding SOP) ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำ “ระบบงานตำรวจชุมชน” มาเสริมความโปร่งใส และความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมต้นธารในสังคมไทย เป็นการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง และขยายผล ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน