กสม. จัดประชุมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหารือโจทย์วิจัยด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้นโยบายสำคัญของ กสม.

10/12/2567 483

          เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ที่ห้องประชุม 704 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี พร้อมด้วยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ นางปรีดา  คงแป้น และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวมณีรัตน์  มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำ กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดโจทย์การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1 โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ อาทิ ดร.พิมพ์รภัช  ดุษฎีอิสริยกุล มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ดร.ฐิติพล  ภักดีวานิช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดร.ศวิต  กาสุริยะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) คุณอาทิตย์  สุริยะวงศ์กุล Thai Netizen Network และคุณฐิติรัตน์  ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้นจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำโจทย์วิจัยภายใต้นโยบายสำคัญของ กสม. โดยสรุปประเด็นได้ดังนี้

          1. ประเด็นการขจัดการเลือกปฏิบัติและสิทธิของประชากรกลุ่มเฉพาะ มีการหยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นหารือดังนี้

- ประเด็นสิทธิของผู้สูงอายุ โดยเสนอให้มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน (Aging in Place) และการสร้างหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุ

- ประเด็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน มีการเสนอให้ศึกษาเกี่ยวกับผู้ใช้ยาที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติหลายชั้น

- ประเด็นสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอให้ศึกษาเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม และปัญหาที่ดินและป่าไม้ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข

- ประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชน เสนอให้ศึกษาเกี่ยวกับสิทธิเด็กในโรงเรียน

- ประเด็นสิทธิแรงงาน เสนอให้ศึกษาผลกระทบด้านสิทธิแรงงานจากการจ้างงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะแรงงานในแพลตฟอร์มต่าง ๆ

- ประเด็นสิทธิด้านสถานะบุคคล เสนอให้วิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการพิสูจน์สิทธิของผู้มีปัญหาด้านสถานะบุคคล

          2. ประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เสนอให้มีการวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการรับรู้สิทธิทางสิ่งแวดล้อมของเยาวชน การศึกษาประเด็นสิทธิมนุษยชนกับการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน และการนำร่องใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบสิทธิมนุษยชนในโครงการพัฒนาที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษชน

          3. ประเด็นการพัฒนาเมืองสิทธิมนุษยชน (Human Rights City) เสนอให้มีการศึกษาโมเดล Human Rights City ที่มีอยู่ในต่างประเทศเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย และควรวิจัยนำร่องโครงการเมืองสิทธิมนุษยชนที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างเยาวชน สถาบันการศึกษา ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          4. ประเด็นสิทธิมนุษยชนในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) เสนอให้ศึกษาทั้งในเรื่องผลกระทบของ AI ต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การละเมิดสิทธิของกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ และการนำ AI มาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้คำปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน การพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยในการจำแนกประเภทและวิเคราะห์เรื่องร้องเรียนเบื้องต้น รวมถึงการพัฒนาระบบ AI สำหรับการตรวจจับและเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน

          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสนอแนะให้มีการศึกษาภาพรวมของการละเมิดสิทธิในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการคุ้มครองสิทธิที่เหมาะสม และควรมีการบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เทคโนโลยี กฎหมาย การสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อให้งานวิจัยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงพัฒนาการถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ เช่น การย่อยข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถนำไปใช้ได้เมื่อวิจัยเสร็จสิ้น

          การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนางานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนของสำนักงาน กสม. ซึ่งมุ่งหวังให้ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ สามารถนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะจากการประชุมไปประมวลผลและจัดทำเป็นแผนด้านการวิจัยต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน