กสม.สุภัทรา ประชุมร่วมกับ รมว.ยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนการเสนอร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ....

10/12/2567 466

          เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุม 10-06 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายบุญแทน  ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. นายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการ กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. เข้าร่วมประชุมเพื่อทบทวนการเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ....  ร่วมกับ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกูเฮง  ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางสาวเอมอร  เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายธีรยุทธ  แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้แทนกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

          เนื่องจากกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอความเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายเศรษฐา  ทวีสิน) พิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมรับร่างพระราชบัญญัตินี้ไปพิจารณาทบทวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ได้ข้อยุติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

          เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจึงได้จัดประชุมเพื่อทบทวนการเสนอร่าง พ.ร.บ. นี้ แต่ผลการประชุมยังไม่เป็นที่ยุติ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันตามข้อสังเกตเดิมว่ายังไม่มีความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงจัดประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาทบทวนการเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... อีกครั้ง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวยืนยันเน้นย้ำเจตนารมณ์เดิมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามที่มีข้อห่วงกังวลเรื่อง 1) ความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะการเลือกปฏิบัติมีความทับซ้อน (Intersectionaltiy) ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุม และแม้จะมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแต่เป็นเพียงหลักการ จำเป็นต้องมีกฎหมายกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองมิให้ถูกเลือกปฏิบัติ รวมทั้ง กสม. มีงานศึกษาวิจัยว่า ประเทศไทยควรตรากฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะสิทธิไม่ถูกเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ซึ่งการมีกฎหมายกลางจะคุ้มครองทุกคนในประเทศไทย 2) กฎหมายฉบับนี้ไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น แต่เป็นกฎหมายกลางที่จะช่วยอุดช่องว่างจากการถูกเลือกปฏิบัติ และ 3) เรื่องความซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจของ กสม. ขอยืนยันว่าไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจาก กสม.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนของประเทศตามหลักการปารีส ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติการของรัฐ แต่ กสม. ทำหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้หน่วยงานไปส่งเสริมคุ้มครองและเยียวยา กฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญและจะช่วยยกระดับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศ ตลอดจนทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นจริงได้

          ทั้งนี้ ในการประชุมได้ข้อสรุปว่า ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนามยืนยันการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน