กสม.ศยามล ร่วมเสวนาการประชุมวิชาการองค์ความรู้สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ : IHRP Mahidol Show Cases ในโอกาสครบรอบ 76 ปีแห่งปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล และครบรอบ 25 ปี หลักสูตรสิทธิมนุษยชน หลักสูตรแรกของเอเชียตะวันออก

16/12/2567 346

          เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เวลา 15.00 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรเสวนา หัวข้อ “สิทธิมนุษยชน สุขภาพ สันติภาพและความเป็นธรรม : โอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัย” ร่วมกับ รศ.ดร.โคทม  อารียา  นายสมชาย  หอมลออ  และนางสาวกรรณิการ์ กิตติเวชกุล ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.นภารัตน์  กรรณรัตนสูตร ในเสวนาการประชุมวิชาการองค์ความรู้สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ : IHRP Mahidol Show Cases ในโอกาสครบรอบ 76 ปีแห่งปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล และครบรอบ 25 ปี หลักสูตรสิทธิมนุษยชน หลักสูตรแรกของเอเชียตะวันออก จัดตั้งโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ได้ตั้งประเด็นให้ผู้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ การปกป้องคุ้มครองและการทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิเสรีภาพและสันติภาพในสังคมไทย ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง และบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าสิทธิมนุษยชนเป็นวัฒนธรรมที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ และเริ่มต้นในครอบครัวไปจนถึงโรงเรียน ชุมชนและในสังคม ที่จะบ่มเพาะความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรม ให้บุคคลมีประสบการณ์ตรงกับสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ สิทธิมนุษยชนจึงจะหยั่งรากลึกในสังคมไทย ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีบทบาทหน้าที่ทั้งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งพบว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้น ตัวอย่างเช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม มีปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก เรือนจำแออัด แม้เป็นผู้ต้องขังก็ยังคงเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง กรณีนี้ควรแก้ปัญหาระดับโครงสร้างโดยแก้ไขกฎหมายให้ลดโทษทางอาญา และรัฐได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 กำหนดให้การปรับพินัยเป็นคำสั่งทางปกครอง และไม่เป็นโทษทางอาญา ซึ่งเป็นความก้าวหน้าระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันกรมราชทัณฑ์มีการปรับตัวและออกกฎระเบียบที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ทำให้เรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ลดลง ความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชนที่เป็นประเด็นใหม่ๆ ได้แก่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ แรงงาน Platform (Rider) แรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังถูกจำกัดสิทธิในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนในประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการตรวจสอบบรรษัทและห่วงโซ่อุปทานซึ่งเป็นนิติบุคคลไทยในการลงทุนข้ามพรมแดน เป็นต้น

          ในการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ใช้ทั้งมาตรการทางนโยบาย การบริหาร และกฎหมาย โดยสื่อสารสร้างความเข้าใจอย่างฉันมิตรกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน และชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมแก้ไขที่สาเหตุของปัญหา ซึ่งเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปในคราวเดียวกัน หากเป็นปัญหาระดับโครงสร้างจะใช้มาตรการทางกฎหมาย และพบว่าสามารถแก้ไขกฎหมายลำดับรองซึ่งส่งผลในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐให้สำเร็จได้ ดังนั้น การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ก้าวหน้าในสังคมไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และใช้ระยะเวลา เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมยอมรับในความแตกต่างและเห็นพ้องต้องกัน ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยควรเป็นหน่วยวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านสิทธิมนุษยชนให้เท่าทันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สิทธิทางดิจิทัล

เลื่อนขึ้นด้านบน