กสม. สุภัทรา ร่วมเสวนา เรื่อง การดำเนินคดีปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กิจกรรมวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและวันสิทธิมนุษยชนสากล

16/12/2567 398

          เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรร่วมเสวนา เรื่อง การดำเนินคดีปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ในกิจกรรมวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและวันสิทธิมนุษยชนสากล จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนร่วมกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้ทนายความมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน สร้างทนายความให้เป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และอำนวยความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสภาทนายความฯ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชน ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรภาคเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะกรรมการสภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ คณะอนุกรรมการด้านคดีสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการด้านคดีสิทธิมนุษยชน คณะอนุกรรมการด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น คณะอนุกรรมการบุคคลพิการ ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส และคณะอนุกรรมการด้านเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ จำนวน 200 คน

          นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานร่วมจัดงาน ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิมหาไถ่เพื่อพัฒนาคุณพิการ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ILAW) ทนายความ และสื่อมวลชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ที่เข้าร่วมกิจกรรมและร่วมออกบูทนิทรรศการในกิจกรรมดังกล่าวด้วย โดยช่วงเช้า กิจกรรมเริ่มต้นด้วย ดร.กฤษณ์ ขำทวี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ กล่าวรายงาน โดยมี นายสัญญาภัชระ  สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ทนายความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จากนั้นเป็นการบรรยาย เรื่อง การปล่อยตัวชั่วคราวและพัฒนาการของสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง  ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการบรรยายเรื่อง รัฐธรรมนูญไทยกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา  เทวนฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับช่วงบ่าย เป็นการเสวนา เรื่อง การดำเนินคดีปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย วิทยากรประกอบด้วย นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.น้ำแท้  มีบุญสล้าง อัยการพิเศษฝ่ายประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรองอัยการสูงสุด) นายวีระ  สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รับชัน และ ดร.กฤษณ์  ขำทวี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ ดำเนินรายการโดย นายยิ่งชีพ  อัชฌานนท์ รองประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เริ่มต้นด้วยการแนะนำ กสม. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนของประเทศตามหลักการปารีส ปฐมบทสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน 9 ฉบับของสหประชาชาติและที่ประเทศไทยเป็นภาคี ปฏิญญานักปกป้องสิทธิมนุษยชน หน้าที่และอำนาจของ กสม. การดำเนินการของ กสม. ในประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 2) การเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และ 3) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดย นางสาวสุภัทรา กล่าวถึงทนายความว่า ในฐานะทนายความ ทุกคนคือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีทนายความหลายคนที่ออกมาทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเป็นที่รู้จัก เช่น ทนายสมชาย  นีละไพจิตร ซึ่งปัจจุบันถูกบังคับสูญหายและยังไม่ทราบชะตากรรม ที่ผ่านมามีการบันทึกข้อมูลของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้จนถึงขั้นเสียชีวิตในระหว่างปี 2544-2558 จำนวน 55 คน แต่หลังปี 2558 ยังไม่มีการบันทึกข้อมูล

          กสม. ให้ความสำคัญกับประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและได้ทำวิจัยเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีข้อค้นพบสำคัญ อาทิ 1. ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่รับรองสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 2. ประเทศไทยยังมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กฎหมายบางฉบับยังเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่และเป็นเครื่องมือนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 3. ยังขาดกลไกการเฝ้าระวังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยผลการศึกษาวิจัยมีข้อเสนอแนะ อาทิ 1) การจัดการคดีฟ้องปิดปาก โดยพิจารณาแก้ไขระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด กำหนดเพิ่มเติมให้คดีฟ้องปิดปากหรือคดีการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการสั่งฟ้องคดีที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หรือออกระเบียบเฉพาะสำหรับดำเนินคดีทำนองดังกล่าว และประธานศาลฎีกา ควรพิจารณาออกคำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการพิจารณาคดีดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางสำหรับศาลในการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 หรือ 165/2 2) ข้อเสนอต่อกองทุนยุติธรรม ในการทบทวนเกณฑ์พิจารณาช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี เพื่อให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้มากขึ้น และ 3) ข้อเสนอต่อภาคธุรกิจ ในการดำเนินกิจการที่ไม่ละเมิดสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน : แนวทางว่าด้วยการประกันการเคารพนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามที่คณะทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ เสนอเป็นกรอบในการทำงาน

เลื่อนขึ้นด้านบน