กสม. เข้าพบ ผบ.ทร. หารือแนวทางการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการป้องกันการทรมาน จับมือร่วมขับเคลื่อนให้เกิดผล

18/12/2567 24

            วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำ กสม. นายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการ กสม. พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าพบ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร) และคณะ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนร่วมกัน ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. มีภารกิจในการส่งเสริม คุ้มครองและเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมา กสม. ให้ความสำคัญกับการติดตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เช่น กองทัพเรือ ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่ง กสม. รับทราบว่า กองทัพเรือได้ส่งเสริมความตระหนักรู้ของกำลังพล และมีมาตรการในการป้องกันการทรมานบ้างแล้ว

            อย่างไรก็ดี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทัพเรือให้สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)  กสม. จึงพร้อมสนับสนุนและร่วมมือในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของกำลังพลเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน แนวทางการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่เหมาะสม รวมทั้งประสานความร่วมมือในการเข้าตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมทหารใหม่ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ โดยเห็นว่าการสร้างความร่วมมือเชิงป้องกันการทรมานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์จะขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ในเชิงระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

            ด้านพลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร ระบุว่า กองทัพเรือมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ กสม. จะเข้ามาช่วยอุดช่องว่างและลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพลที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และเห็นพ้องว่าการทำงานร่วมกันในเชิงการป้องกันปัญหาและสร้างความตระหนักรู้เป็นแนวทางที่เหมาะสมและสร้างสรรค์ โดยยินดีให้ กสม. ร่วมสนับสนุนวิทยากรหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชนและแนวทางการป้องกันการทรมานให้กับกำลังพลของกองทัพ โดยที่ผ่านมากองทัพเรือมุ่งสร้างความตระหนักรู้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ให้แก่ครูฝึกทหารเรือ ซึ่งกองทัพเรือเชิญชวน กสม. เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกกำลังพลใหม่และหารือถึงแนวทางการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจตามหลักสิทธิมนุษยชนร่วมกับครูฝึกทหารต่อไป ณ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

18 ธันวาคม 2567

เลื่อนขึ้นด้านบน