กสม. เข้าร่วมเวทีหารือระดับชาติว่าด้วยการเข้าเป็นภาคี OPCAT

26/12/2567 69

          เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าร่วมเวทีหารือระดับชาติว่าด้วยการเข้าเป็นภาคี OPCAT (National Dialogue on OPCAT Ratification) จัดโดย คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) และกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APF) โดยมีนายกมลศักดิ์  ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร Ms. Katia Chirizzi รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงาน OHCHR และ Ms. Nayela Akter ผู้แทน APF ร่วมกล่าวเปิดและกล่าวต้อนรับ  

          ในเวทีหารือดังกล่าว นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึง “บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการสนับสนุนการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) และการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย” ว่า กสม. ร่วมผลักดันการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กับภาคีองค์กรหลายฝ่าย โดยเฉพาะ สส. และ สว. ซึ่งทำหน้าที่ในการพิจารณาและผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจนมีผลใช้บังคับและเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น การบันทึกภาพและเสียงในระหว่างการควบคุมตัว การเยียวยาผู้เสียหาย นอกจากนี้ กสม. ได้จัดตั้งกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและการป้องกันการทรมาน (NPM Initiative Unit) เพื่อดำเนินการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกันสถานที่ควบคุมตัวประเภทต่าง ๆ โดยในปี 2567 ได้ดำเนินการตรวจเยี่ยมเรือนจำ สถานีตำรวจ และสถานบำบัดยาเสพติด รวมทั้งได้พัฒนาเครื่องมือการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกันตามมาตรฐาน OPCAT ซึ่งให้ความสำคัญกับสภาพทางกายภาพของสถานที่ควบคุมตัว การปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง การดูแลด้านสุขภาพ เป็นต้น ตลอดจนสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคี OPCAT และจัดตั้ง NPM ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อยกระดับมาตรฐานการป้องกันการทรมานภายในประเทศ ขณะเดียวกัน กสม. ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมทั้งองค์กรและกลไกระหว่างประเทศ เช่น คณะอนุกรรมการว่าด้วยการป้องกันการทรมาน (SPT) OHCHR และองค์การเอกชน เช่น APT ตลอดจนภาคประชาสังคมและภาคประชาชนภายในประเทศ  

          Ms. Aisha Shujune Muhammad รองประธาน SPT กล่าวถึง “การเข้าเป็นภาคี OPCAT: วิธีการทำงานและการมีส่วนร่วมระหว่าง SPT กับรัฐภาคีและกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM)” ว่าบทบาทของ SPT เน้นการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกัน การให้ข้อเสนอแนะ และการสร้างความร่วมมือในการป้องกันการทรมานกับรัฐภาคีและ NPM ภายในประเทศ บนแนวทางการสร้างความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ และความร่วมมือ บนหลักการความเป็นกลางและการไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้รัฐภาคีสมัครใจและพร้อมปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ SPT โดย SPT จะให้ความสำคัญกับการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกันเพื่อเน้นค้นหาปัญหาเชิงโครงสร้างและเสนอแนวทางการป้องกันความเสี่ยง โดยใช้หลักการตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หลังจากนั้นจะมีการจัดทำรายงานข้อค้นพบและข้อเสนอแนะมาตรการลดความเสี่ยงซึ่งจะไม่เปิดเผยหรือรายงานต่อสาธารณะ โดยการดำเนินการทั้งหมดของ SPT จะเป็นความลับและจะหารือเฉพาะกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น นอกจากนี้ SPT ยังมีกองทุนเพื่อสนับสนุนรัฐภาคีในการปฏิบัติตาม OPCAT ซึ่งหน่วยงานของรัฐภาคีสามารถขอรับการสนับสนุนได้ ทั้งนี้ การเข้าเป็นภาคี OPCAT จะช่วยให้ไทยได้รับข้อเสนอแนะจากกลไกชำนัญพิเศษ และสามารถปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินการและกฎหมายภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

          Mr. Benjamin Buckland ที่ปรึกษาอาวุโสด้านงานตรวจเยี่ยม APT กล่าวถึง “การป้องกันการทรมานในระดับชาติ: โครงสร้างของกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติในรูปแบบต่าง ๆ ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน และการมีส่วนร่วมกับสถานที่ลิดรอนเสรีภาพและสถานที่ควบคุมตัวบุคคล” ว่า OPCAT เน้นการกำหนดให้มีโครงสร้างกลไกป้องกันการทรมานและการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานที่ลิดรอนเสรีภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ได้แก่ SPT และ NPM ซึ่งสามารถเข้าตรวจเยี่ยมได้โดยไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมทั้งจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะซึ่งจะเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยรับข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์และการรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายเกี่ยวข้องเพื่อเข้าใจภาพรวมและบริบทของสถานการณ์ โดย OPCAT กำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือที่ไม่ใช้การประณามและเป็นการหารือโดยตรงกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานและเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน เช่น กรณีมาดากัสการ์ SPT และ NPM ได้ช่วยหน่วยงานของรัฐบาลในการพัฒนาแนวทางในการรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น ในชั้นการบันทึกการจับกุม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการทรมาน นอกจากนี้ หลายประเทศที่เข้าเป็นภาคี OPCAT เช่น คอสตาริกา นอร์เวย์ ได้พบการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานที่เกี่ยวจำนวนมาก ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย การเข้าเป็นภาคี OPCAT การจัดตั้ง NPM และการจัดทำกรอบทางกฎหมายที่เหมาะสมจะทำให้ไทยเป็นผู้นำในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและการป้องกันการทรมานในระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ

          นอกจากนี้ ในเวทีหารือยังได้จัดให้มีการเสวนา โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในหัวข้อ “มุมมองของสมาชิกรัฐสภาต่อ OPCAT: ประโยชน์ โอกาส และความท้าทาย” ซึ่งมีผู้ร่วมการเสวนาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ได้แก่ นางสาวชลธิชา  แจ้งเร็ว นางอังคณา  นีละไพจิตร ทพญ. ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ โดยได้ร่วมกันเน้นย้ำว่าความสำเร็จของการป้องกันการทรมานและการเคารพสิทธิมนุษยชนจะขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองของผู้นำทางการเมือง ทั้งนี้ การจัดตั้ง NPM ที่เป็นอิสระจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศได้

          ช่วงที่สอง นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา หัวข้อ “มุมมองของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และประสบการณ์ในภูมิภาค” โดยมีนางสาวฉัตราภรณ์  ดิษฐศรีพร ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นางสาวพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ Mr. Jake Basilan ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับ SPT มากกว่า 10 ปี และรับการตรวจเยี่ยมจาก SPT มาแล้ว 2 ครั้ง ร่วมการอภิปรายซึ่งเน้นในประเด็นรูปแบบของ NPM ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกับข้อเสนอแนะและประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ โดยเน้นความสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมาจากการใช้อำนาจการตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยกลไกที่เป็นอิสระ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปทั้งในทางกฎหมายและทัศนคติในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยมีข้อเสนอว่าการจัดตั้ง NPM ของไทยต้องสอดคล้องตามมาตรฐานสากลและต้องมีอิสระในการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกัน รวมทั้งต้องมีการจัดทำกรอบทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม และมีความยั่งยืน    

          ในช่วงท้าย คณะกรรมาธิการฯและองค์กรร่วมจัดงานได้ประชุมกลุ่มเฉพาะร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เน้นย้ำการสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าเป็นภาคี OPCAT และได้นำเสนอความพร้อมของ กสม. ในการทำหน้าที่เป็น NPM หากได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

เลื่อนขึ้นด้านบน