กสม. ศยามล ร่วมเสวนาเรื่อง “พลังพลเมือง จับตาวิกฤตโลกเดือด” ในรายการคุณเล่าเราขยาย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

02/01/2568 31

          เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมบันทึกเทปรายการคุณเล่าเราขยาย ในหัวข้อ “พลังพลเมือง จับตาวิกฤตโลกเดือด” ร่วมกับ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และผู้ประสานงาน Thai climate Justice for  All

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการรับมือวิกฤตโลกเดือดสรุปว่า ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์จูงใจผู้ประกอบการทุกขนาดให้ประกอบกิจการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งยังติดขัดด้านกฎหมาย และมีแผนการจัดการขยะและนำขยะกลับมาใช้ใหม่

          ข้อเสนอสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คือ ให้มีการประเมินความเสี่ยงร่วมกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่ ความเสี่ยงด้านการเกษตรกรณีเกษตรกรทำเกษตรเชิงอนุรักษ์เพื่อลดโลกร้อนซึ่งต้องปรับตัวทั้งเงินทุน การตลาด และการบริหารจัดการน้ำที่รัฐต้องช่วยสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ความเสี่ยงด้านการท่องเที่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและเพิ่มปริมาณขยะ ความเสี่ยงด้านการขนส่งที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น และยังต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หลักความเป็นธรรม หลักความรับผิดชอบ เกี่ยวกับสิทธิในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะชีวิตของคนรุ่นต่อไป สิทธิในสุขภาพ สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางสิ่งแวดล้อม สิทธิของกลุ่มประชากรที่อยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงซึ่งต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในการได้รับการช่วยเหลือเยียวยากรณีเกิดภัยพิบัติ และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี

         นางสาวศยามล กล่าวเพิ่มเติมว่า สังคมไทยต้องเปลี่ยนระบบการคิดใหม่ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของทุกส่วนราชการ  ซึ่งต้องตระหนักถึงการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและความเสี่ยงจากผลกระทบในสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระจายภารกิจอำนาจหน้าที่ และงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับชุมชน  และเสริมสร้างความรู้ให้แก่ท้องถิ่น ชุมชน เพื่อให้สามารถเป็นผู้ประเมินความเสี่ยง ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันลดภาวะโลกร้อน และใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการลดโลกร้อน (Nature Base Solution) ด้วย

เลื่อนขึ้นด้านบน