กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 1/2568 กสม. แนะหน่วยงานพิจารณาคำขอประทานบัตรเหมืองหินปูน จ.ขอนแก่น อย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน - ชี้หน่วยงานของรัฐละเลยให้เอกชนรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ของชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต แนะตรวจสอบการออกโฉนด และประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม - กสม. มีท่าทีกรณีการปราศรัยเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกันของอดีตนายกรัฐมนตรี

10/01/2568 8

                วันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 1/2568 โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ ดังนี้ 

1. กสม. แนะหน่วยงานพิจารณาคำขอประทานบัตรเหมืองหินปูน จ.ขอนแก่น อย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประธานกลุ่มรักษ์ดงลานผ่านสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2567 ขอให้ตรวจสอบกรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น จำนวน 2 คำขอ โดยพื้นที่ยื่นคำขอประทานบัตรตั้งอยู่ที่บ้านน้อยพรสวรรค์ หมู่ที่ 12 ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ใกล้กับตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น และเป็นพื้นที่ป่าผืนเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติภูผาม่านและป่าสงวนแห่งชาติป่าดงลาน มีพืชพรรณเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าสงวน เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน มีแหล่งน้ำซับซึมตามธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำพอง รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงในระยะ 300 – 500 เมตร มีแหล่งโบราณคดี ภาพเขียนสีโบราณ “ผาแต้ม” และภาพเขียนสีบริเวณถ้ำผาพวง อายุประมาณ 2,000 ปี โดยมีความกังวลว่าการทำเหมืองแร่อาจส่งผลกระทบโดยตรงทั้งจากแรงสั่นสะเทือนที่จะทำลายถ้ำ ฝุ่นละอองปกคลุม และอาจเป็นเหตุให้แหล่งท่องเที่ยวสูญเสียความงดงาม ถนนที่ใช้สัญจรชำรุด กระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชน ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง และมลพิษด้านเสียงจากการระเบิด ทั้งยังไม่สอดคล้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยววิถีสีชมพู นอกจากนี้ กลุ่มรักษ์ดงลานยังเห็นว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน รวมทั้งมีการคุกคามประชาชนที่แสดงความคิดเห็นคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 58 ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชน และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดให้บุคคลและชุมชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ การเข้าชื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการหรือละเว้นการดำเนินการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน ขณะเดียวกัน ในการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน รัฐต้องชี้แจงข้อมูลและเหตุผลในการดำเนินการพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและชุมชนที่มีส่วนได้เสียก่อน 

            กรณีตามคำร้อง มีประเด็นแยกพิจารณาได้ 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรของบริษัทเอกชน โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นพื้นที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือไม่ เห็นว่า คำขอประทานบัตรทั้งสองคำขออยู่ในแผนแม่บทว่าด้วยการบริหารจัดการแร่ ไม่ทับกับพื้นที่คำขอแปลงอื่น และอยู่ในพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานจึงได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรทั้งสองไว้ ส่วนการตรวจสอบในประเด็นพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย และผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่หรือไม่นั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบตามประเด็นข้างต้น และจังหวัดขอนแก่นให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ชะลอการดำเนินการคำขอทั้งสองไว้ก่อน ในชั้นนี้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ผู้ถูกร้อง มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ประเด็นที่สอง กระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เห็นว่า เมื่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตร ได้ดำเนินการเชิงกระบวนการตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยก่อนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น มีการปิดประกาศการรับฟังความคิดเห็นและส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมพร้อมด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับคำขอประทานบัตรทั้งสองแล้ว แต่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่บ้านซำขาม หมู่ที่ 8 ตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู มีการยกเลิกไปเนื่องจากผู้ร้องแสดงจุดยืนโดยการไม่เข้าร่วมเวที และเนื่องจากอยู่ระหว่างชะลอการดำเนินการคำขอประทานบัตรทั้งสองตามคำสั่งจังหวัดขอนแก่น จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เช่นกัน

            ส่วนประเด็นที่สาม กรณีร้องเรียนว่า องค์การบริหารส่วนตำบลดงลาน และบริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตร คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ จากการตรวจสอบ ไม่ปรากฏข้อมูลการคุกคามต่อกลุ่มผู้คัดค้าน แต่บริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตรยอมรับว่าได้พยายามประสานองค์การบริหารส่วนตำบลดงลาน เพื่อเชิญกลุ่มผู้คัดค้านมาเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ความพยายามในการประสานให้กลุ่มผู้คัดค้านมาเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น จึงอาจเป็นการสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตหรือถูกคุกคาม และอาจกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้คัดค้าน จึงรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สรุปได้ ดังนี้ 

            1. ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พิจารณาเสนอความเห็นต่อการขออนุญาตประทานบัตรของคำขอประทานบัตรทั้ง 2 คำขอ อย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือส่วนได้เสียของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ รวมทั้งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นำผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งจังหวัดขอนแก่น ที่ 1384/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า ประชาชนในพื้นที่ตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ไม่เห็นด้วยกับการขออนุญาตประทานบัตร เสนอกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรและการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

            2. ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ทบทวนการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ในพื้นที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ เนื่องจากเขตแหล่งแร่ดังกล่าวเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม และแหล่งโบราณคดี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้ามกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามมาตรา 17 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560

            3. ให้บริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตรระมัดระวังในส่วนของการประสานเพื่อเข้าพบหรือพยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการคุกคามต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้คัดค้าน

            4. ให้ประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เร่งรัดกำหนดคำอธิบายความหมายของป่าน้ำซับซึมในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ โดยนิยามดังกล่าวต้องหมายความรวมถึงการเป็นพื้นที่แหล่งน้ำซับซึมที่มีความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ในด้านการอุปโภคบริโภคของชุมชนและประชาชนประกอบด้วย

 

 2. กสม. ชี้หน่วยงานของรัฐละเลยให้เอกชนรุกล้ำคลองสาธารณะและที่สาธารณประโยชน์ของชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต แนะตรวจสอบการออกโฉนด และประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม

 

            นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลราไวย์และสมาชิกเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตเมื่อเดือนกันยายน 2565 และเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ระบุว่า มีการรุกล้ำถมคลองสาธารณะ ซึ่งชาวเลราไวย์เรียกว่า “คลองหลาโอน” เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นเหตุให้น้ำท่วมขังชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยให้เอกชนหาประโยชน์จากพื้นที่หน้าชุมชน ซึ่งเป็นลานคอนกรีตสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยหน่วยงานของรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต (ผู้ถูกร้องทั้งห้า) ปล่อยปละละเลย จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 70 กำหนดให้รัฐพึงมีแนวนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข โดยไม่ถูกรบกวน อีกทั้ง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีมาตรการสำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาวิถีชีวิตชาวเล โดยคำนึงถึงความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ สาธารณสุข สิทธิสถานะบุคคล ภาษา และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงการแก้ไขปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ 

            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า กรณีการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หน้าชุมชนชาวเลราไวย์นั้น เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีความผูกพันกับวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวเลราไวย์มาอย่างยาวนาน ต่อมา เอกชนฟ้องขับไล่ชาวเล ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กลุ่มชาวเลราไวย์ชนะคดี เอกชนไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ชาวเลราไวย์ และเห็นว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้เอกชนดังกล่าวอ้างเอกสารสิทธิในที่ดินและเข้าไปเรียกเก็บค่าเช่าบริการ บนลานคอนกรีตที่ก่อสร้างโดยงบประมาณของภาครัฐ จึงเป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ดี ชาวเลราไวย์ ได้ร่วมกันยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองภูเก็ต

            กรณีลานคอนกรีตซึ่งใช้งบประมาณของรัฐในการก่อสร้าง แต่ละเลยให้เอกชนแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบนี้ อาจมีการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่น จึงเห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

            ส่วนกรณีการรุกล้ำคลองหลาโอน ปรากฏข้อเท็จจริงหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2510 ว่า คลองหลาโอนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชนชาวเลราไวย์ เป็นทางโค้งตามแนวชายฝั่งทะเล ความยาวประมาณ 400 เมตร และไหลลงสู่ทะเล ปัจจุบัน คลองหลาโอนส่วนต้นไม่ปรากฏสภาพความเป็นคลองแล้ว และปรากฏเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิของเอกชน ที่ผ่านมาชาวเลราไวย์ร้องเรียนเรื่องการรุกล้ำคลองหลาโอนและเรียกร้องให้มีป้องกันและดูแลรักษาคลองหลาโอนมาตลอด และเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ยังปรากฏกรณีที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งกระทำการที่เข้าลักษณะการรุกล้ำคลองหลาโอนส่วนปลาย โดยเทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ละเลยให้มีการถมทำลายคลอง รวมทั้ง สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ไม่ใช้ความละเอียดอ่อนและตระหนักถึงสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดการออกโฉนดที่ดินทับคลองหลาโอนส่วนต้น ดังนั้น การกระทำของหน่วยงานข้างต้น จึงเป็นการละเลยหน้าที่ของรัฐต่อสิทธิชุมชน ส่งผลให้เกิดการทำลายและทำให้สูญหายซึ่งพื้นที่ทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้ง กระทบต่อหลักการและมาตรการของเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

            สำหรับกรณีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชุมชนชาวเลราไวย์ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชนเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นชุมชนแออัดและบ้านเรือนอยู่ติดกันอย่างแน่นขนัด และไม่มีทางระบายน้ำออกสู่ทะเล ปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียในชุมชนจึงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยของประชาชน แม้เทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต และจังหวัดภูเก็ต จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่มาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม กรณีจึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ของรัฐในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนและทำให้ประชาชนไม่อาจบรรลุถึงสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ 

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้ 

            (1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กรมที่ดิน หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งห้า ได้แก่ เทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต และสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการออกโฉนดที่ดินทับคลองหลาโอนส่วนต้น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน และการคำนึงถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หากพบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับคลองหลาโอนส่วนต้น ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินในส่วนดังกล่าว และให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเอกชนรุกล้ำคลองหลาโอนส่วนปลาย หากพบว่ามีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งให้มีมาตรการสำหรับการเยียวยาคืนสู่สภาพเดิมและการป้องกันการรุกล้ำคลองหลาโอนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

            นอกจากนี้ ให้เทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ร่วมกันกำหนดมาตรการสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชนชาวเลราไวย์ โดยให้มีระบบการจัดการน้ำและการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

            (2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน รวมทั้งให้นำข้อมูลตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. ที่ 470/2550 ลงวันที่ 21 กันยายน 2550 ข้อมูลตามคำพิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต คดีหมายเลขแดงที่ 1084 – 1098/2561 ลงวันที่ 24 มกราคม 2562 ที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเลราไวย์ ซึ่งอยู่มาก่อนการครอบครองที่ดินของเอกชน และข้อมูลตามรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการดังกล่าว

            ให้หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งห้าและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการสำหรับการเยียวยา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาคลองหลาโอนให้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนชาวเลราไวย์ กำหนดมาตรการสำหรับการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เอกชนผู้ครอบครองที่ดินใกล้กับชุมชนชาวเลราไวย์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 

            และให้หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งห้า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการสำหรับฟื้นฟู อนุรักษ์ และส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงามของชุมชนชาวเลราไวย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง การประกาศให้ชุมชนชาวเลราไวย์เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลต่อไป

 

            3. กสม. มีท่าทีกรณีการปราศรัยเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกันของอดีตนายกรัฐมนตรี

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปราศรัยของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ในลักษณะเหยียดเชื้อชาติและสีผิวของคนแอฟริกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ มีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการกระทำดังกล่าวอันเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชนอื่น ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ โดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและรัฐบาลมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

            การปราศรัยดังกล่าว แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่เมื่อคำนึงถึงสถานะทางสังคมของผู้พูดซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองและมีอิทธิพลต่อสังคม การสื่อสารอันเป็นการเหยียดและด้อยค่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นจึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควรยิ่ง เพราะพื้นฐานความคิดที่ว่าคนเชื้อชาติหนึ่งเชื้อชาติใดเหนือกว่าชนเชื้อชาติอื่น อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติระหว่างมนุษย์และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์และสันติภาพระหว่างชาติ ดังจะเห็นได้จากบทเรียนในอดีตของมนุษยชาติซึ่งการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว และเผ่าพันธุ์ ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง อันเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ 

            กสม. เห็นว่าในขณะที่รัฐบาลไทยในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญา CERD มีหน้าที่ต้องจัดให้มีนโยบายและการปฏิบัติที่นำไปสู่การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบรวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจระหว่างคนทุกชนชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ไทยเพิ่งได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ คือ การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council – HRC) วาระปี 2568 - 2570 นี้ บุคคลสาธารณะและผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองของไทยจึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและร่วมส่งเสริมให้สังคมตระหนักและเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นโดยไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อกันด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สีผิว หรือสถานะทางสังคมอื่นใด รวมทั้งไม่สื่อสารในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มคนอื่น ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและสร้างสรรค์บนพื้นฐานของการเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกคน

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

10 มกราคม 2568

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน