ที่ปรึกษา กสม. ร่วมให้ความเห็นในเวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 25 หัวข้อ “ตรวจสอบข้อความอันตรายบนโลกออนไลน์”

25/04/2566 149
                   เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 นางสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ที่ปรึกษา กสม.) ในฐานะผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นใน เวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 25 หัวข้อ “ตรวจสอบข้อความอันตรายบนโลกออนไลน์” จัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ChangeFusion Centre for Humanitarian Dialogue (HD) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) FHI 360 มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ และภาคี โดยเป็นวงเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก Cofact โคแฟค และเพจภาคีองค์กรร่วมจัด

                   เวทีดังกล่าวมีการปาฐกถา เรื่อง “การรับมือกับข้อความอันตรายออนไลน์ ในมุมมองของสิทธิมนุษยชน” การนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง การตรวจสอบข้อความอันตรายในสื่อสังคมออนไลน์ โดยมี วิทยากรประกอบด้วย คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) คุณสก็อต อารอนสัน (Scott Aronson) Chief of Party, Networks for Peace, FHI 360 คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น คุณอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษา กสม. คุณธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสาและความสุข คุณวศินี พบูประภาพ สื่อมวลชน จากสำนักข่าว Today และพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

                   ที่ปรึกษา กสม. กล่าวในเวทีดังกล่าวสรุปว่า ปัจจุบัน Hate Speech หรือถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง แพร่กระจายไปทุกอนูของสังคม ไม่ว่าการเมือง ศาสนา บันเทิง ฯลฯ จนกลายเป็นสังคมแห่งความเกลียดชัง เพราะแต่ละคนก็เลือกที่จะเชื่อชุดข้อมูลตามแต่ที่เชื่อแล้วสบายใจ และผลักคนเห็นต่างให้ไปอยู่ฝั่งตรงข้าม ส่วน Dangerous Speech คือขั้นกว่าของ Hate Speech คือก้าวข้ามจากความไม่ตระหนักหรือความคึกคะนอง ไปเป็นความจงใจให้เกิดความรุนแรงขึ้น

                   “การใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทุกวันนี้ คือเครื่องมือสื่อสารถูกเอามาเป็นเป้าหมาย ถ้าทางธุรกิจก็เพื่อทำการตลาด (Marketing) สร้างแบรนด์ สร้างความนิยม ประชาสัมพันธ์ สร้างกิจกรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือสื่อสารออนไลน์มันถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่าย นำมาสร้างความเกลียดชัง ใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเป้าหมาย หรือใช้เป็นเครื่องมือในการระราน-รังแก (Bully) ข่มขู่คุกคาม ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลมาจากมายาคติที่เราอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้อย่างยาวนาน” ที่ปรึกษา กสม. กล่าว
เลื่อนขึ้นด้านบน