กสม. ศยามล เป็นวิทยากรเสวนาในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มศักยภาพภาคีเครือข่ายท้องถิ่นเพื่อการจัดการช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืน พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก”

30/10/2566 162
          เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 เวลา 10.45 น. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรเสวนา เรื่อง “การกระจายอำนาจการจัดการช้างป่า” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มศักยภาพภาคีเครือข่ายท้องถิ่นเพื่อการจัดการช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืน พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก”ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาต้นแบบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างคนกับช้างในประเทศไทย ร่วมกับนายสมพร  วงษ์ประดิษฐ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังจันทร์ จังหวัดระยอง นายตาล  วรรณกูล ศูนย์เรียนรู้ช้างป่าภาคตะวันออก นายเผด็จ  ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รศ.ดร.ธนพร  ศรียากูล กรรมการคณะกรรมการกระจายอำนาจสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และนายชุติพงศ์  พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานในด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเพื่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในกรณีปัญหาช้างป่า กสม. ได้ติดตามมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน ทุกมุมมอง มาพิจารณาตรวจสอบ ซึ่งพบว่าภาครัฐยังไม่เข้าใจลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่มองปัญหาในภาพรวม และกลไกการทำงานของราชการที่ติดขัดในกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการปัญหาและการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายหากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุนด้านกฎหมายและระเบียบ มีความเข้าใจลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นกับช้างและเห็นความสำคัญของคน โดยทำงานประสานสอดคล้องร่วมกันระหว่างหน่วยงานได้ดี และผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร จนถึงผู้ปฏิบัติงาน ในทุกระดับเข้าใจปัญหาอย่างถูกต้องในทิศทางเดียวกัน จะทำให้การคลี่คลายปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
 
          ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอว่า การจัดการช้างป่าควรกระจายงบประมาณให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตอบสนองการจัดการปัญหาช้างป่า อาทิ การจัดหานวัตกรรม (สัญญาณเตือนภัย) ในการป้องกันภัยจากช้างป่า การอบรมพัฒนาอาสาสมัครป้องกันภัยซึ่งควรทำต่อเนื่องทุกปี การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการทำประกันชีวิตให้แก่อาสาสมัครซึ่งอาจใช้งบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย
ภาพ : Thai PBS
เลื่อนขึ้นด้านบน