กสม. ศยามลเป็นวิทยากรเสวนาวิชาการในการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ....

26/10/2566 47

            เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566  เวลา 10.00 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เป็นวิทยากรเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ก้าวให้ข้ามปัญหาการกดทับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์”ในการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... จัดโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเป็นวิทยากรร่วมกับ นายเลาฟั้ง  บัณฑิตเทิดสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับพรรคก้าวไกล นายอภินันท์  ธรรมเสนา  หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับจัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) นายสุมิตรชัน  หัตสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับจัดทำโดยกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) นายศักดา  แสนหมี่ ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับจัดทำโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์สุริชัย  หวันแก้ว  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 – 2 โซน C อาคารรัฐสภา
 
            กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การต่อสู้ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นคดีความในชั้นศาล ชนเผ่าพื้นเมืองชนะคดีด้วยเหตุผลที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งถือเป็นประชาชนที่อยู่ในดินแดนแห่งนี้มาก่อน (First People) ส่วนในประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2562 ให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ตามมาตรา 70 กำหนดว่า รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย และมาตรา 43 ซึ่งกำหนดว่าบุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ (2) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น ควรผลักดันให้มีการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
            นอกจากนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้มีข้อเสนอเกี่ยวการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... ดังนี้
            1. ให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในร่างพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทรวบรวมองค์ความรู้ด้านมานุษยวิทยาของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นหน่วยจัดทำฐานข้อมูลของกลุ่มประชากร และกำหนดเขตคุ้มครองพื้นที่ทางวัฒนธรรม 
            2. พระราชบัญญัติต้องให้การคุ้มครองสิทธิก่อน แล้วจึงส่งเสริมศักยภาพวิถีชีวิตของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะว่า ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกับป่า หรือท้องทะเลได้ โดยเป็นผู้ปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านั้น ซึ่งมีงานวิจัยรองรับเป็นที่ประจักษ์ชัด
            3. การสร้างกลไกการดำเนินงานกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ ควรมีเพียง 2 ระดับ คือ ระดับชาติ เพื่อกำหนดนโยบาย และระดับพื้นที่ โดยร่วมกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการปฏิบัติตามนโยบาย ลดขั้นตอนและให้เกิดผลการดำเนินการคุ้มครองปกป้องสิทธิของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

เลื่อนขึ้นด้านบน