กสม. ศยามล ลงพื้นที่จังหวัดน่าน และประชุมรับฟังข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสาใน สปป. ลาว ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน

08/12/2566 33

               เมื่อวันที่ 6 – 7 ธันวาคม 2566  นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางรัตติกุล  จันทร์สุริยา  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายพิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยพยานผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่และประชุมรับฟังข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมีรายละเอียดดังนี้
วันที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางรัตติกุล  จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดน่านร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าพบเจ้าหน้าที่ของบริษัทโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าหงสา การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหา
 
               จากนั้น เวลา 15.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงจากกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกส้มและเงาะในอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เพื่อดูสภาพปัญหาสวนส้มและเงาะของเกษตรกร ที่มีปัญหาผลผลิตลดลงและร่วงหล่นก่อนถึงฤดูกาลเก็บเป็นจำนวนมาก
 
               วันที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ พร้อมด้วยนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่านซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมเป็นประธานในที่ประชุม และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อเท็จจริงประกอบไปด้วย จังหวัดน่าน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2 (ลำปาง) อำเภอเฉลิมเกียรติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สาธารณสุขจังหวัดน่าน และพยานผู้เชี่ยวชาญ ในประเด็นการเฝ้าระวังผลกระทบข้ามพรมแดนจากการดำเนินโครงการ และกลไกการตรวจสอบและการเฝ้าระวังผลกระทบข้ามพรมแดน  โดยสรุปได้ว่า ให้มีกลไกเฝ้าระวังผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
 
               ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้นำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาและผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าหงสา ไปรวบรวมเพื่อจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน