กสม. ศยามล เข้าพบ 1 ใน 100 หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจของโลก 2023 เพื่อรับฟังปัญหาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ

07/12/2566 47
                เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เวลา 12.30 น. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบกับนางสาวมัจฉา  พรอินทร์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน (1 ใน 100 หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจของโลก 2023)  และเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง แกนนำชุมชน เพื่อรับฟังปัญหาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ ดังนี้
 
                1. พื้นที่บ้านสามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่ง ยังคงมีสถานะเป็นผู้ไร้สัญชาติ การได้รับผลกระทบจากการถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติสาละวิน ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกทำเกษตร ขาดแคลนอาหารและเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่/เขื่อนในแม่น้ำสาละวิน อีกทั้งชุมชน ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและปลอดภัย เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติจากดินถล่ม น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า นอกจากนี้ยังเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมถึงในประเด็นผู้หญิงและเด็ก บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ
 
                2. ชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง พื้นที่บ้านบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบจากเขตป่าสงวน เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ทำให้ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมได้ ถูกผลักให้เข้าสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตอย่างเข้มข้น ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและต้นทุนในการผลิตสูง แต่ราคาผลผลิตที่ขายได้ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร โดยขาดกลไกปกป้องคุ้มครองราคาจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ชุมชน ยังได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของเหมืองแร่มาอย่างยาวนาน แต่ขาดข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน ขาดการมีส่วนร่วม ขาดอำนาจในการตัดสินใจ ทำให้ที่ผ่านมาไม่ได้รับการเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานของภาคธุรกิจเหมืองดังกล่าว
 
                ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่กล่าวมา โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สามารถใช้กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามสภาพปัญหาที่รับฟังนี้ ควบคู่กับการทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกับกลไกในพื้นที่ของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและจังหวัด รวมถึงต้องมีการรับฟังข้อเสนอแนะจากชุมชนในโอกาสต่อไป
เลื่อนขึ้นด้านบน