กสม. ศยามล เข้าร่วมการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม”

04/12/2566 36

                ระหว่างวันที่ 3 – 4 ธันวาคม 2566  นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นตัวแทนผู้บริหารสำนักงาน กสม. ร่วมการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยการประชุมดังกล่าวมีกิจกรรมที่สำคัญดังนี้
 
                วันที่ 3 ธันวาคม 2566 ในช่วงบ่าย ได้มีกิจกรรม งานเสวนานโยบายและมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ประเทศต้องการห้องย่อย 7 “สิทธิมนุษยชนในอากาศสะอาดในภูมิภาคอาเซียน” โดยมีสำนักงาน กสม.  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย เครือข่ายคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) เป็นเจ้าภาพในงานเสวนาดังกล่าว ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ คือ การนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “สิทธิมนุษยชนในอากาศสะอาดในภูมิภาคอาเซียน” โดย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากนั้นเป็นการนำเสนอกรณีศึกษา การจัดการหมอกควันข้ามพรมแดนในภูมิภาคอาเซียน โดย Mr. William Shulte จาก Environmental Law Alliance Worldwide  ตามด้วยการเสวนาให้ความเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย“สิทธิมนุษยชนในอากาศสะอาด ในภูมิภาคอาเซียน” โดย นางสาวร่มฉัตร  วชิรรัตนากรกุล จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ศาสตราจารย์อมรา  พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นางชุติมา  หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนาชัย  สุนทรอนันตชัย ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย และนายพันศักดิ์  ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์บุญชู  ณ ป้อมเพ็ชร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาฉันทามติข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกัน 
 
                วันที่ 4 ธันวาคม 2566 ในช่วงเช้า นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม และฝุ่นควันข้ามพรมแดน” โดยมีเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่ง คือ“กสม. จะมีบทบาทหน้าที่คุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อมทั้งในไทยและข้ามพรมแดนที่บุคคลหรือนิติบุคคลของรัฐไทยไปก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่กระจายข้ามขอบเขตนอกราชอาณาจักรไทย การตรวจสอบผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การไต่สวนสาธารณะ (Public Inquiry) ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของสถาบันสิทธิมนุษยชนในการไต่สวนกรณีที่มีผลกระทบที่เป็นวงกว้าง และการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้น โดยใช้กระบวนการปรึกษาหารือสร้างความเข้าใจและพัฒนาองค์ความรู้กับหน่วยงานของรัฐ และกลไกของกระบวนการยุติธรรม และในการขับเคลื่อนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กสม. ร่วมได้สนับสนุนสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการจัดทำแนวทางการไต่สวนสาธารณะประเด็นโลกร้อน และร่วมสนับสนุน ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights/AICHA  ในการพัฒนากรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค (Regional Environmental Framework) ให้แล้วเสร็จ เพื่อคุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป” และได้กล่าวปิดท้ายว่า  “สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีอากาศสะอาดเป็นเรื่องของเราทุกคนบนโลกใบนี้”
 
                นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบด้วย การจัดบูทนิทรรศการเพื่อลมหายใจของหน่วยงานภาคีเครือข่าย การออกร้านขายของ กิจกรรมเทศกาลเพื่อลมหายใจ การworkshop การเสวนา การแสดงศิลปะและการแสดงบทเพลงด้วย
 
                อนึ่ง ประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกลไกการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยที่ภาครัฐต้องตอบสนองต่อปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ และเพื่อให้เกิดการบูรณาการภายใต้เจตจำนงร่วมกันที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหามลพิษในระยะยาวและยั่งยืน
 

เลื่อนขึ้นด้านบน