สำนักงาน กสม. จัดประชุมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางการพัฒนาเครื่องมือตรวจเยี่ยมเรือนจำ

15/12/2566 29
               วันที่ 15 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ได้จัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาเครื่องมือตรวจเยี่ยมเรือนจำ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานราชทัณฑ์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สมาคมป้องกันการทรมาน (APT) ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง และผู้บริหารสำนักงาน กสม. ตลอดจนบุคลากรกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว และป้องกันการทรมาน ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในสำนักงาน กสม. ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเพื่อป้องกันการทรมานโดยเฉพาะ ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
 
               นายพิเศษ  สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวต้อนรับและยินดีที่ TIJ ได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการออกแบบกลไกที่เหมาะสมในการป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมองว่าการตรวจเยี่ยมเรือนจำ จำเป็นต้องทำอย่างสมดุล ทั้งเรื่องการควบคุมดูแล ความมั่นคงปลอดภัย และการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหามาตรฐานที่สอดคล้องในหลากหลายมิติ และมุ่งให้ผู้กระทำความผิดได้รับการฟื้นฟู ปรับปรุงพฤติกรรม และกลับกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาสังคมร่วมกันต่อไป
 
               นายพิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหัวหน้าคณะทำงานโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐานและระบบการป้องกัน คุ้มครองและเยียวยาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นำเสนอความเป็นมา วัตถุประสงค์และผลผลิตที่คาดหวังจากโครงการวิจัยฯ ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเครื่องมือและระบบที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โดยโครงการวิจัยดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งการวิจัยจะครอบคลุม 3 มิติ 4 กรอบประเด็น ได้แก่ 1) แนวทางการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM) ตามพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) และเครื่องมือตรวจสถานที่ควบคุมตัว โดยระยะแรกจะเน้นไปที่เรือนจำ 2) แนวปฏิบัติและหลักสูตรสอบสวนที่เคารพสิทธิมนุษยชนและมีประสิทธิผล 3) การพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐาน และระบบการให้ความเห็นทางการแพทย์เพื่อตรวจสอบการทรมาน และ 4) การพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐานและระบบการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานและบังคับสูญหาย ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกรอบประเด็นที่ 1 คือการพัฒนาเครื่องมือตรวจเยี่ยมเรือนจำ
 
               นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม. ได้นำเสนอบทบาท กสม. ในการตรวจเยี่ยมเรือนจำและการเตรียมความพร้อมในการเป็นกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM) โดยกล่าวถึงบทบาทของ กสม. ที่ผ่านมาว่า กสม. ทุกชุดที่ผ่านมา ล้วนมีบทบาทในการตรวจเยี่ยมสถานควบคุมตัวที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใช้มาตรฐานที่มีอยู่ เช่น Mandela Rules และ Bangkok Rules เป็นกรอบในการดำเนินการ ส่วนในปัจจุบัน กสม. จะเสนอแนะให้รัฐบาลเข้าเป็นภาคีของพิธีสารเลือกรับ OPCAT และสำนักงาน กสม. ได้เตรียมความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น NPM โดยตั้งกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว และป้องกันการทรมาน เพื่อทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว โดยเน้นให้คำแนะนำเพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลสถานที่ควบคุมตัวได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
 
               นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการวิจัยฯ ได้ชวนผู้เข้าร่วมการประชุมนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาเครื่องมือตรวจเยี่ยมเรือนจำ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนของเรือนจำและทัณฑสถานที่เข้าร่วมประชุม ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ กรอบหลักการและมาตรฐานสากลที่ใช้สำหรับการตรวจเยี่ยมเรือนจำ ความพร้อมสำหรับการถูกตรวจเยี่ยมของเรือนจำ/ทัณฑสถาน เครื่องมือและวิธีการตรวจเยี่ยมเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ใช้ในปัจจุบัน และปิดท้ายด้วยข้อเสนอต่อแนวทางการพัฒนาเครื่องมือตรวจเยี่ยมเรือนจำและทัณฑสถาน
 
               ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. จะนำข้อมูลและความเห็นที่ได้รับจากการประชุมไปประมวลและพัฒนาเป็นร่างกรอบเครื่องมือตรวจเยี่ยม และจะมีการปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้างต่อไป
เลื่อนขึ้นด้านบน