แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์

22/10/2556 145

 

กสม. ขอสนับสนุนรัฐบาลที่กำหนดให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และรับทราบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการโดยยึดถือและปฏิบัติตามหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พันธกรณีต่างๆ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา โดยใช้หลักนิติธรรมเป็นหลักประกันความมั่นคงว่า ทุกกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือความเปราะบางจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
                   กสม. เห็นว่าเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของรัฐบาลที่มุ่งขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีจุดเน้นเร่งดำเนินการในประเด็นที่ประเทศไทยถูกกล่าวหาในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ปี  ๒๕๕๖ ใน ๓ ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
                  ๑) ผู้หญิงและเด็ก ได้แก่ ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารเพื่อการป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก สถานพักพิงของรัฐที่จัดให้เหยื่อการค้ามนุษย์ไม่มีทรัพยากรบุคคลเพียงพอและไม่จัดบริการเฉพาะสำหรับเหยื่อการค้าบริการทางเพศที่เป็นเด็ก และยังไม่แสดงให้เห็นความพยายามในการลดความต้องการการซื้อขายบริการทางเพศ
                  ๒) แรงงาน ได้แก่ ระบบการสืบสวนสอบสวนกรณีที่อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ที่พบจากการตรวจสอบแรงงานยังไม่สามารถทำงานได้  ไม่มีการรายงานผลความพยายามในการมุ่งขจัดปัญหาแรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล  ยังไม่มีบริษัทจัดการแรงงานถูกลงโทษด้วยข้อหาเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานหรือการค้ามนุษย์  แม้ในช่วงปีที่ผ่านมาได้เพิกถอนใบอนุญาตสถานประกอบการและระงับใบอนุญาตประกอบการของบริษัทฯ หลายแห่ง
                  ๓) กระบวนการ ได้แก่ ระบบตุลาการยังมีความล่าช้าในการดูแลคดีอาญา รวมถึงในคดีการค้ามนุษย์  ทำให้ผู้ต้องสงสัยบางคนที่ศาลอนุญาตประกันตัวหนีออกนอกประเทศหรือข่มขู่เหยื่อ  การอนุญาตให้ผู้ต้องสงสัยที่กระทำผิดประกันตัวได้โดยตุลาการวินิจฉัยจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้กระทำผิดหนีประกันและหลบหนี  กระบวนการคัดแยกเหยื่อมีข้อบกพร่อง และการทุจริตของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย 
               กสม. เห็นความสำคัญและมีข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยต้องขจัดให้หมดสิ้นไป เนื่องจากถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รุนแรงที่สุด และเห็นว่าในหลายประเด็นที่ประเทศไทยถูกกล่าวหามีความซับซ้อน รัฐบาลต้องอาศัยความจริงใจ มุ่งมั่น และใช้ระยะเวลา  ปัญหาค้ามนุษย์เป็นปัญหาข้ามพรมแดน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ
 
              การกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ผ่านมา ตลอดจนการที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายโอกาส รวมทั้ง มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ หากได้ดำเนินการอย่างจริงจังด้วยความมุ่งมั่น และการระดมสรรพกำลัง  จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกจัดระดับเป็นประเทศที่ถูกมาตรการกีดกันด้านการค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา (Tier ๓)  ได้  ซึ่ง กสม. ขอแสดงความห่วงใยและยินดีสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลที่จะขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปในที่สุด

เลื่อนขึ้นด้านบน