กสม.ปรีดา ร่วมเสวนาการบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ”

29/02/2567 35

          เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการเสวนา เรื่อง “การบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ” จัดโดย คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย .โดยการเสวนาดังกล่าว นายอำพล  จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมผู้สูงอายุ ได้นำเสนอประเด็นความสำคัญของ “การบริหารจัดการราษฎรที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ” และผู้แทนกรมการปกครองนำเสนอนโยบายสำคัญของกรมการปกครองด้านสัญชาติและสถานะบุคคล พร้อมสถานการณ์และการบริหารจัดการเกี่ยวกับราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทย รวมทั้งยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และบทบาทของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มดังกล่าว
 
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 - 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและสถานะบุคคล จำนวน 500 กรณี ซึ่งการตรวจสอบเป็นรายกรณี ไม่อาจแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้ จึงกำหนดประเด็นสิทธิและสถานะบุคคลเป็นนโยบายสำคัญในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไร้รัฐไร้สัญชาติร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของ กสม. ที่ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ และจะจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มอัตรากำลัง การพัฒนาบุคลากร งบประมาณ การกระจายอำนาจ เป็นต้น
 
          อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาควรร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ และกำหนดพื้นที่เป้าหมายอำเภอตามแนวชายแดนที่มีปัญหาความซ้ำซ้อน และผู้มีปัญหาสถานะและคนไร้รัฐไรสัญชาติจำนวนมาก รวมถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุให้ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ส่วนผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราวประมาณ 70,000 คน ควรหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่ได้รับสถานะบุคคล ไม่สามารถเดินทางออกไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งประเด็นนี้ กสม. อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน