กสม. วสันต์ เข้าร่วมการหารือ AICHR-EU ว่าด้วยข่าวลวงและข่าวปลอม (AICHR-EU Dialogue on Disinformation and Misinformation)

31/01/2567 42

          เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าร่วมการหารือ AICHR-EU Dialogue on Disinformation and Misinformation ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และสหภาพยุโรป (EU)  ณ โรงแรม Jen Singapore Tanglin by Shangri-La สาธารณรัฐสิงคโปร์
.
          การหารือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคอาเซียนและยุโรปในประเด็นผลกระทบจากการขยายตัวอย่างกว้างขวางของข่าวลวงและข่าวปลอม (disinformation and misinformation) ทั้งในมิติภายในประเทศและระหว่างประเทศ การกำหนดมาตรการทางกฎหมายและที่ไม่ใช่กฎหมายโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการในภูมิภาคอาเซียนและยุโรป รวมถึงการบ่งชี้ประเด็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนควรพิจารณาดำเนินการตามลำดับความสำคัญ
.
          ประเด็นสำคัญจากการหารือโดยสังเขป ได้แก่ ข่าวลวงและข่าวปลอมส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างโดยเพิ่มความขัดแย้งระหว่างผู้คนทั้งในมิติทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม และลดทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการประชาธิปไตย ประกอบกับข่าวลวงและข่าวปลอมยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความรุนแรงทางกายภาพและจิตใจมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนมาตรการทางกฎหมายในการจัดการกับข่าวลวงและข่าวปลอม อาทิ กฎหมาย Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act (POFMA) และ Foreign Interference (Countermeasures) Act (FICA) ของประเทศสิงคโปร์ กฎหมาย Digital Services Act (DSA) และมาตรการจัดการเกี่ยวกับการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อครอบงำและแทรกแซงของต่างชาติ (Foreign Information Manipulation and Interference: FIMI) EU Code of Practice on Disinformation ของ EU และมาตรการทางกฎหมายของประเทศลัตเวีย รวมทั้งแนวปฏิบัติที่หลากหลายในประเทศต่าง ๆ
 
          ทั้งนี้ ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking) อาทิ การทำงานของ Asian Fact-Checkers Network (AFN) และ CekFakta การทำวิจัยเกี่ยวกับข่าวลวงและข่าวปลอม อาทิ การทำงานของ NASK Research Institute ในประเทศโปแลนด์ การทำวิจัยเพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการกับ mis- dis- และ mal-information (MDM) ของสถาบันวิชาการในสิงคโปร์ และการส่งเสริมความตระหนักรู้เพื่อเท่าทันดิจิทัลและข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ออนไลน์ของหน่วยงานระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ อาทิ การดำเนินงานของ European Media and Information Fund (EMIF)

เลื่อนขึ้นด้านบน