กสม. ลงพื้นที่ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการร้องเรียนว่าหน่วยงานของรัฐเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป จังหวัดนราธิวาส กระทบสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ และขาดการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

18/02/2567 40

          ระหว่างวันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2567 นางปรีดา  คงแป้น และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสุเรนทร์  ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนใน อ.ระแงะ และอ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส กรณีการร้องเรียนว่าหน่วยงานของรัฐเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป จ.นราธิวาส กระทบสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ และขาดการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
 
          โดยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ที่บ้านกาหนั๊วะ ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ จัดประชุมร่วมกับประชาชนในพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูล สภาพปัญหารวมถึงผลกระทบจากการเตรียมประกาศเขตอุทยานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น การไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวเขตของพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป การไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน การถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ การห้ามเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ใช้ทำกินมาก่อน โดยประชาชนบางรายถูกแจ้งความดำเนินคดี อีกทั้งไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมหลังเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ
 
          ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มัสยิดบ้านลูโบ๊ะยือริง ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ประชุมรับฟังข้อมูลและสภาพปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ อ.ศรีสาครซึ่งได้รับผลกระทบจากการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปเช่นกัน โดยประชาชนที่เข้าร่วมประชุมได้กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน โดยพบว่าบางพื้นที่มีกลุ่มนายทุนสามารถนำไปออกเอกสารสิทธิได้ จำนวนกว่า 1,850 ไร่ และผลกระทบจากการที่ที่ดินทำกินและที่ตั้งชุมชนถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ส่งผลให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้กระทำความผิดและถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการจัดการหรือปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ เนื่องจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ซึ่งจะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามหลักเกณฑ์การอนุญาตก่อน และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่และชุมชนถูกจำกัดเป็นอย่างมาก
 
          ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แนะนำการจัดทำข้อมูลการใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชนและแนวทางการดำเนินการเพื่อเรียกร้องและปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินแก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
 
          ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ จะรวบรวมข้อมูลและปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ข้างต้น ไปประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา และจะจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน